:::

การดำรงชีวิตแบบชาวไอนุ — คำสอนของคุณยายและเรื่องราวที่อยากถ่ายทอดในพิพิธภัณฑ์

อาเคมิ โอชิโนะ

ผู้สืบทอดทางด้านวัฒนธรรมไอนุของเมืองมุคาวะในเกาะฮอกไกโด ครั้งหนึ่งเคยดำรงตำแหน่งนักวิชาการฝ่ายการวิจัยและศิลปะของพิพิธภัณฑ์ไอนุแห่งชาติ ปัจจุบันทำงานอยู่ในแผนกการศึกษา กรมส่งเสริมวัฒนธรรม สำนักงานใหญ่ปฏิบัติการอุโปะโปย ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการอยู่ร่วมกันแห่งชาติ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมไอนุ วางแผนและดำเนินการหลักสูตรประสบการณ์การศึกษา ตลอดจนคำอธิบายทางวัฒนธรรมและการแสดงสำหรับผู้มาเยือน ทำหน้าที่เป็นผู้นำของกลุ่มโคตัน (การตั้งถิ่นฐาน) แบบดั้งเดิม นอกจากจะเป็นนักแสดงศิลปะดั้งเดิมของชนเผ่าไอนุแล้ว ในเวลาเดียวกัน ยังเป็นครูของ Ezashi Oifen (เพลงพื้นบ้านของ Ezashi)
 

หน่วยงาน: อุโปะโปยเป็นสัญลักษณ์ของการอยู่ร่วมกันแห่งชาติ

อุโปะโปยเป็นสัญลักษณ์ของการอยู่ร่วมกันของชาติ เป็นสถาบันระดับประเทศที่ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2563 ซึ่งเป็นสถานที่สำหรับการเรียนรู้และเผยแพร่ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของไอนุ เพื่อการสืบสาน การฟื้นฟู และการสร้างสรรค์วัฒนธรรมไอนุ วัตถุประสงค์ของการก่อตั้งคือการให้ความเคารพในศักดิ์ศรีของชนเผ่าพื้นเมืองและสร้างสังคมที่มีความหลากหลายโดยไม่เลือกปฏิบัติ อุโปะโปยมี "พิพิธภัณฑ์ไอนุแห่งชาติ"  "อุทยานการอยู่รวมกันแห่งชาติ" และ  "สถานที่สำหรับประกอบพิธีสักการะผู้วายชนม์"

อุทยานแห่งชาติเป็นพิพิธภัณฑ์สนาม (Field Museum)  เช่น ห้องแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ห้องการเรียนรู้ สตูดิโองานฝีมือและโคตันแบบดั้งเดิมที่คุณสามารถสัมผัสทัศนียภาพของชีวิตสมัยโบราณได้ หลักสูตรต่างๆ ได้รับการออกแบบมาเพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม เสื้อผ้า อาหาร ที่อยู่อาศัย และการเดินทางของชาวไอนุ ตลอดจนศิลปะและงานฝีมือของพวกเขา

ในเมืองชิราโออิ ฮอกไกโด ซึ่งเป็นที่ตั้งของอุโปะโปย ชาวไอนุในท้องถิ่นได้เริ่มส่งเสริมวัฒนธรรมของตนเองเมื่อประมาณ 150 ปีที่แล้ว ในช่วงทศวรรษ 1960 ได้เริ่มก่อสร้างสถานที่ท่องเที่ยว "โปโรโตะ โคตัน (นิคมทะเลสาบใหญ่)" และในปี พ.ศ. 2527 พิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์ไอนุได้เปิดอย่าเป็นทางการ พิพิธภัณฑ์ส่วนตัวแห่งนี้ปิดให้บริการในปี พ.ศ. 2561 หลังจากการควบรวมกิจการระหว่างองค์กรส่งเสริมวัฒนธรรมและส่งเสริมการวิจัยของชาวไอนุ ซึ่งเป็นมูลนิธิเพื่อสาธารณประโยชน์ และพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์ไอนุ ซึ่งเป็นมูลนิธิจัดตั้งทั่วไปที่ดำเนินงานโปโรโตะ โคตัน ก็ได้กลายเป็นองค์กรระดับประเทศ  ในปี พ.ศ. 2563 ?อุ โปะโปยถูกก่อตั้งขึ้นและกลายเป็นระบบปฏิบัติการในปัจจุบัน
 



การดำรงชีวิตแบบชาวไอนุ — คำสอนของคุณยายและเรื่องราวที่อยากถ่ายทอดในพิพิธภัณฑ์

ต้นกำเนิดของฉัน

ในปี พ.ศ. 2528 ฉันเกิดที่เมืองมุคาวะ ทางตอนใต้ของเกาะฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น แม่เป็นชาวไอนุ แต่พ่อไม่ใช่ชาวไอนุ  ฉันมีพี่ชาย พี่สาว และน้องสาวฝาแฝด บ้านเกิดของฉันอยู่ในสถานที่ที่บรรพบุรุษของแม่ฉันอาศัยอยู่มาหลายชั่วอายุคน ตั้งแต่พวกเรายังเด็ก พวกเราฝาแฝดทั้งคู่ได้รับอิทธิพลจากคุณยายของเราและได้สัมผัสวัฒนธรรมไอนุในท้องถิ่นในเมืองมุคาวะ ฉันกับน้องสาวฝาแฝดมีใจตรงกัน ได้เรียนรู้วัฒนธรรมร่วมกัน และแบ่งปันความสุขและความทุกข์ของการเป็นชนเผ่าไอนุ เมื่อพูดถึงชื่อบทความนี้ "การดำรงชีวิตแบบชนเผ่าไอนุ" ก็อดไม่ได้ที่จะพูดถึงความเป็นอยู่ของน้องสาวของฉัน

ผู้เขียนบทความทางด้านวัฒนธรรมโกตันแบบดั้งเดิม © มูลนิธิวัฒนธรรมไอนุแห่งชาติ

ผู้เขียนบทความทางด้านวัฒนธรรมโกตันแบบดั้งเดิม © มูลนิธิวัฒนธรรมไอนุแห่งชาติ

การทำงานของฉัน

ปัจจุบันฉันเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมของมูลนิธิวัฒนธรรมไอนุ(The Foundation for Ainu Culture) ซึ่งเป็นนิติบุคคลสมาคมสวัสดิการสาธารณะ อุโปะโปยซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการอยู่ร่วมกันแห่งชาติ (UPOPOY: National Ainu Museum and Park)  อุโปะโปยเป็นสถาบันทางวัฒนธรรมที่สร้างขึ้นในเมืองชิราโออิ ทางตอนใต้ของเกาะฮอกไกโด เป็นสถานที่ระดับประเทศแห่งแรกที่อุทิศให้กับการแนะนำวัฒนธรรมไอนุ

อุโปะโปยก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็น "ฐานในการฟื้นฟูและสร้างสรรค์วัฒนธรรมไอนุ" ในขณะเดียวกัน ยังเป็นสัญลักษณ์ของ "การมองไปสู่อนาคต การเคารพในศักดิ์ศรีของชนเผ่าพื้นเมือง และสร้างสังคมที่มีความหลากหลายและมีชีวิตชีวาโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ" (จากเว็บไซต์ UPOPOY) มี "พิพิธภัณฑ์ไอนุแห่งชาติ" (National Ainu Museum)และ "อุทยานไอนุแห่งชาติ" (National Ainu Park) ในอุโปะโปย "อุทยานแห่งชาติ" แห่งนี้เป็นพิพิธภัณฑ์สนาม เช่น หอแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม (Cultural Exchange Hall) หอการเรียนรู้ (Workshop) สตูดิโองานฝีมือ (Crafts Studio) และโคตันแบบดั้งเดิม (Traditional Village) ที่คุณสามารถเยี่ยมชมได้ สัมผัสทัศนียภาพของชีวิตเก่าๆ เรามีหลักสูตรต่างๆ มากมายที่ให้คุณเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม เสื้อผ้า อาหาร ที่อยู่อาศัย และการเดินทางของชาวไอนุตลอดจนศิลปะและงานฝีมือของพวกเขา

อุโปะโปยเปิดตัวอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ.2563 ประวัติความเป็นมานั้นมีความเกี่ยวข้องกับการต่อสู้ดิ้นรนมาเป็นระยะเวลายาวนานของชาวไอนุ เพื่อให้ได้เป็น "ชนพื้นเมือง" ตามกฎหมายประเทศญี่ปุ่นในที่สุด พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เพิ่งเปิดได้เพียง 3 ปี แต่เดิมพื้นที่ชิราโออิมีพิพิธภัณฑ์ "พิพิธภัณฑ์ไอนุ"(The Ainu Museum)อยู่แล้ว ที่ดำเนินการโดยชาวไอนุเอง พิพิธภัณฑ์แห่งนี้หันหน้าไปทางทะเลสาบโปโรโตะที่อยู่ด้านหน้า จึงได้ชื่อว่า "โปโรโตะ โคตัน" (โคตัน แปลว่า "การตั้งถิ่นฐาน หมู่บ้าน" ในภาษาไอนุ)   ที่เกาะฮอกไกโดมีพิพิธภัณฑ์และสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งที่แนะนำวัฒนธรรมโดยชาวไอนุ และชิราโออิได้รับเลือกให้เป็นสถานที่สำหรับการก่อสร้างแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2561 มูลนิธิเพื่อการวิจัยและส่งเสริมวัฒนธรรมไอนุ (Foundation for Research and Promotion of Ainu Culture)ซึ่งเป็นองค์กรระดับชาติ และมูลนิธิพิพิธภัณฑ์ไอนุ(Ainu Museum Foundation) ซึ่งเป็นมูลนิธิทั่วไปที่รับผิดชอบการดำเนินงานโปโรโตะ โคตัน ได้รวมเข้าด้วยกันเพื่อร่วมสร้างระบบปฏิบัติการในปัจจุบัน

ฉันเริ่มทำงานที่พิพิธภัณฑ์ไอนุแห่งชาติ ซึ่งเป็นมูลนิธิทั่วไปก่อนการควบรวมกิจการในเดือนเมษายน พ.ศ.2556 ตอนนี้เป็นธุรกิจหลักของ อุโปะโปย นั่นคือพื้นที่ "โคตันแบบดั้งเดิม" ที่คุณสามารถสัมผัสทิวทัศน์ของชีวิตในสมัยโบราณ และมีหน้าที่อธิบายชีวิตดั้งเดิมของชาวไอนุและแนะนำศิลปะแบบดั้งเดิมของชาวไอนุให้ผู้มาเยี่ยมชม เป็นต้น

ทิวทัศน์พาโนรามาของอุโปะโปยซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการอยู่ร่วมกันแห่งชาติ © มูลนิธิวัฒนธรรมไอนุแห่งชาติ/แผนภาพ

ทิวทัศน์พาโนรามาของอุโปะโปยซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการอยู่ร่วมกันแห่งชาติ © มูลนิธิวัฒนธรรมไอนุแห่งชาติ/แผนภาพ

โคตันในแบบดั้งเดิม

โคตันในแบบดั้งเดิม

โคตันในแบบดั้งเดิม

โคตันในแบบดั้งเดิม

พิพิธภัณฑ์ไอนุแห่งชาติและห้องนิทรรศการพื้นฐาน © พิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์ไอนุแห่งชาติ

พิพิธภัณฑ์ไอนุแห่งชาติและห้องนิทรรศการพื้นฐาน © พิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์ไอนุแห่งชาติ

การดำรงชีวิตแบบชาวไอนุ ——ต้นกำเนิด——

เหตุผลที่ฉันเริ่มฝึกฝนและแนะนำวัฒนธรรมไอนุนั้นส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลจากคุณยายของฉัน พ่อของฉันเสียชีวิตเมื่อฉันอายุได้ 5 ขวบ และหลังจากนั้นฉันก็ใช้เวลาอยู่กับคุณยายเป็นส่วนใหญ่

คุณยายเกิดในปี พ.ศ. 2469 และอาศัยอยู่ในบ้านไอนุแบบดั้งเดิมหรือภาษาไอนุเรียกว่า "cise" จนกระทั่งเธออายุประมาณ 7 ขวบ วัสดุก่อสร้างแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับพื้นที่ แต่คุณยายของฉันอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีหลังคามุงจาก พ่อแม่ของคุณยาย ซึ่งก็คือตาทวดและยายทวดของฉันใช้ภาษาไอนุในการสื่อสารในชีวิตประจำวัน ดังนั้นยายของฉันจึงซึมซับภาษาไอนุโดยธรรมชาติ

ในช่วงเวลาที่ฉันอาศัยอยู่กับยาย ท่านสอนฉันและน้องสาวฝาแฝดของฉันด้วยภาษาไอนุแบบง่ายที่ท่านพอจะจำได้ รวมถึงเพลงและการเต้นรำของไอนุ เป็นต้น นอกจากนี้ ท่านยังเล่าให้เราฟังมากมายเกี่ยวกับความยากลำบากที่ต้องเผชิญในฐานะชาวไอนุ รวมถึงมุมมองของไอนุที่ท่านสืบทอดมาจากพ่อแม่ของท่าน

รูปฉันกับคุณยาย (ท่านเสียชีวิตในปี พ.ศ. 2565)รูปถ่าย: ผู้เขียนให้ไว้

รูปฉันกับคุณยาย (ท่านเสียชีวิตในปี พ.ศ. 2565)รูปถ่าย: ผู้เขียนให้ไว้

cise (บ้าน) แบบดั้งเดิมของชาวไอนุที่นำกลับมาทำใหม่ที่อุโปะโปย รูปถ่าย: ผู้เขียนให้ไว้

cise (บ้าน) แบบดั้งเดิมของชาวไอนุที่นำกลับมาทำใหม่ที่อุโปะโปย รูปถ่าย: ผู้เขียนให้ไว้

การดำรงชีวิตแบบชาวไอนุ ——การสืบทอด——

คุณยายได้ถ่ายทอดวัฒนธรรมไอนุที่ท่านสืบทอดมาสู่พวกเราพี่น้องฝาแฝดโดยถ่ายทอดผ่านการสอนร้องเพลงและการเต้นรำ ยกตัวอย่างเช่น ชาวไอนุเรียกทุกสิ่งในธรรมชาติว่าkamuy ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่เหมือนพระเจ้า kamuy ไม่เพียงแต่รวมถึงสิ่งดีๆ เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงสิ่งที่ไม่ดีอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น ไฟภาษาไอนุเรียกว่า ape huci kamuy ซึ่งเป็นหญิงชราผู้สูงศักดิ์ที่อยู่รอบตัวเรา หากคุณมีความปรารถนาใด ๆ คุณจะต้องอธิษฐานต่อหญิงชราผู้สูงศักดิ์ ape huci kamuy อย่างแน่นอน เราเชื่อว่า ape huci kamuy จะส่งคำอธิษฐานของมนุษย์ไปยัง kamuy ท่านอื่น ๆ ศิลปะวรรณกรรมปากเปล่าในการเล่าเรื่องผ่านการร้องเพลงในภาษาไอนุเรียกว่า yukar ซึ่งคุณยายสอนให้พวกเราพี่น้องฝาแฝดคือ ape huci kamuy เป็นตัวเอก ท่านถ่ายทอดให้พวกเราโดยผ่านการร้องเพลง yukar ซึ่งบรรพบุรุษปล่อยให้ผู้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ภูมิปัญญาและศีลธรรมในชีวิตทุกรูปแบบ

นอกจากนี้ทุกสิ่งในธรรมชาติ เช่น สัตว์ พืช ทะเล น้ำ ภูเขา ล้วนเป็น kamuy  kamuy ที่ไม่ดีเปรียบเสมือนโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่กำลังแพร่กระจายไปทั่วโลก  kamuy ที่นำโรคต่างๆ ที่เรียกว่า payoka kamuy คุณยายท่านยังถ่ายทอดให้พวกเราพี่น้องฝาแฝดเกี่ยวกับการอธิษฐานและการเต้นรำเพื่อขับไล่โรคระบาดอีกด้วย

จนกระทั่งตอนนี้ พวกเราได้แนะนำเพลงกล่อมเด็กและเรื่องราวการร้องเพลงในโครงการของพวกเรา เพื่อส่งเสริมและสร้างแรงบันดาลใจให้กับพิพิธภัณฑ์และวัฒนธรรมไอนุ คุณยายสอนพวกเราพี่น้องฝาแฝดอย่างละเอียดถึงเนื้อเพลงเหล่านี้ รวมถึงความหมายและวิธีการแสดงออก เป็นต้น

นอกจากเนื้อเพลงและนิทานแล้วยังมีอย่างอื่นที่คุณยายหวงแหนอีกด้วย นั่นก็คือ tamasay tamasay ในภาษาไอนุหมายถึงเครื่องประดับที่ผู้หญิงชาวไอนุสวมใส่ในโอกาสพิเศษ คุณยายบอกว่าตอนท่านอายุ 20 ปี ได้รับ tamasay เหล่านี้จากคุณป้าของท่าน ซึ่งขณะนั้นคุณป้ามีอายุ 90 ปี สมบัติล้ำค่าเหล่านี้ที่น้องสาวของฉันและฉันได้รับ ตอนนี้ถูกจัดแสดงพร้อมกับรูปถ่ายของพวกเราในการสำรวจและงานแสดง “tempa tempa” (Permanent Exhibition Room: Interactive Station “tempa tempa”)ที่พิพิธภัณฑ์ไอนุแห่งชาติในอุโปะโปย

Tamasay ของตระกูลโอชิโนะ "การสำรวจและงานแสดง tempa tempa" ©พิพิธภัณฑ์ไอนุแห่งชาติ

Tamasay ของตระกูลโอชิโนะ "การสำรวจและงานแสดง tempa tempa" ©พิพิธภัณฑ์ไอนุแห่งชาติ

ทิวทัศน์นิทรรศการ "การสำรวจและการจัดแสดง tempa tempa" ©พิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์ไอนุแห่งชาติ

ทิวทัศน์นิทรรศการ "การสำรวจและการจัดแสดง tempa tempa" ©พิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์ไอนุแห่งชาติ

การดำรงชีวิตแบบชาวไอนุ——การสืบทอด——

"พิพิธภัณฑ์ไอนุ"(The Ainu Museum)ที่ฉันทำงานมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 ถือเป็นบรรพบุรุษของอุโปะโปย ซึ่งเริ่มต้นเมื่อประมาณ 60 ปีที่แล้วบนดินแดนเดียวกับที่อุโปะโปยถูกสร้างขึ้น เริ่มใช้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว และดำเนินการโดยชาวไอนุแห่งชิราโออิเอง เมืองชิราโออิก็เหมือนกับเมืองมุคาวะที่ฉันเติบโตขึ้นมา เป็นดินแดนที่มีวัฒนธรรมไอนุอย่างลึกซึ้งมาตั้งแต่สมัยโบราณ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มุ่งมั่นที่จะสืบทอดและแนะนำวัฒนธรรมไอนุของชิราโออิมาตั้งแต่ไหนแต่ไร

ฉันไปเยี่ยม โปโรโตะ โคตัน ครั้งแรกเมื่ออายุประมาณ 9-10 ปี คุณยายและพี่สาวของท่านพาฉันไปที่โปโรโตะ โคตัน คุณยายและพี่สาวของท่านมักจะช่วยเหลือเกี่ยวกับภาษาไอนุหรืองานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการสืบทอดที่จัดทำโดยพิพิธภัณฑ์ไอนุแห่งชาติ ในขณะนั้นในฐานะผู้สืบทอดวัฒนธรรมไอนุในเมืองมุคาวะ และตอนนั้นก็พาเราไปที่นั่นด้วย ฉันจำได้ว่าเราไปที่นั่นทุก ๆ 6 เดือนเมื่อฉันยังเล็ก

ขณะที่คุณยายและพี่สาวของท่านตอบรับโครงการวิจัยของพิพิธภัณฑ์ พวกเราพี่น้องฝาแฝดได้ดื่มด่ำไปกับการร้องเพลงและการเต้นรำนอกห้อง พวกเราชอบเสียง mukkur เป็นพิเศษ mukkur เป็นฮาร์โมนิกาหรือหีบเพลงชนิดหนึ่งที่ทำจากวัสดุหลายอย่าง หีบเพลงที่จัดแสดงที่เมืองชิราโออิครั้งนี้ทำจากไผ่ ไม่มีวิธีตายตัวในการเล่นเครื่องดนตรีนี้ และเสียงเป่าหีบเพลงของแต่ละคนก็แตกต่างกันไป  พวกเราไม่เพียงแต่ชื่นชมเท่านั้น เจ้าหน้าที่ยังสอนวิธีใช้หีบเพลงและวิธีเป่าจากเครื่องดนตรีนี้อีกด้วย นอกจากนี้พวกเราพี่น้องฝาแฝดยังชอบการเต้นระบำกงล้อและการเต้นระบำแบบนกบิน ในบรรดาศิลปะพื้นบ้านของชาวไอนุในเมืองมุคาวะ ยังมีการเต้นระบำกงล้อหรือการเต้นระบำแบบนกบิน แต่การเต้นรำที่สืบทอดมาจากโปโรโตะ โคตันดูเหมือนจะ "เท่" มากกว่าในสายตาของพวกเราด้วย เช่นเดียวกับอุโปะโปยในตอนนี้ เจ้าหน้าที่ที่ทำงานตอนนั้นเป็นกลุ่มพี่น้อง ลุง ป้า ที่ยิ้มแย้มแจ่มใส ทุกคนก็ใจดีมาก หนึ่งในนั้นคือ “หนุ่มที่หล่อมาก” ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการบริหาร(Executive Director)ของอุโปะโปย ผู้หญิงที่มีความสามารถทั้งร้องเพลง เต้นรำ และแนะนำเกี่ยวกับวัฒนธรรมไอนุได้กลายมาเป็นไอดอลของพวกเราฝาแฝดตัวน้อย หลังจากที่ได้สัมผัสกับการแนะนำวัฒนธรรมของโปโรโตะ โคตัน พวกเราพี่น้องฝาแฝดมักจะพูดว่าเราต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อเรียนรู้ทักษะของมุคาวะ

เมื่อพวกเราไปเที่ยวโปโรโตะ โคตัน บ่อยๆ เราก็เริ่มมีความฝันที่ว่า"หากโตขึ้นอยากจะทำงานที่นี่" ตอนที่เราเรียนมัธยมต้นและมัธยมปลาย เราได้เข้าร่วมกิจกรรมระดับภูมิภาคเพื่อแนะนำวัฒนธรรมไอนุอย่างแข็งขัน ในมหาวิทยาลัยฉันเริ่มศึกษาประวัติศาสตร์และภาษาของวัฒนธรรมไอนุอย่างจริงจัง และยังได้รับวุฒิการศึกษาเป็นนักวิชาการด้วย หลังจากสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย ในขณะที่ทำงานในอุตสาหกรรมที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมไอนุ แต่ยังคงมีส่วนร่วมในกิจกรรมเผยแพร่และส่งเสริมวัฒนธรรมไอนุ และในที่สุดก็ได้เข้าทำงานกับโปโรโตะ โคตัน ในปี พ.ศ. 2556 

ในช่วงเรียนมหาวิทยาลัย ฉันได้ศึกษาพื้นฐานของวัฒนธรรมไอนุอย่างถี่ถ้วน ยกตัวอย่างเช่น หลังจากเข้ามหาวิทยาลัย ฉันเริ่มเรียนภาษาไอนุตั้งแต่พื้นฐาน จากสิ่งที่ฉันเรียนรู้ ฉันเปรียบเทียบกับภาษาไอนุที่คุณยายของฉันพูด จากนั้นจึงสำรวจและเรียนรู้ภาษา ไอนุของเมืองมุคาวะเพิ่มเติม ฉันรู้สึกว่าเป็นเพราะฉันอยู่ในมหาวิทยาลัย ฉันจึงมีโอกาสเรียนรู้พื้นฐานอย่างถี่ถ้วน แต่เหตุผลที่พวกเราพี่น้องฝาแฝดตอนนี้มีอัตลักษณ์ของชาวไอนุก็เป็นเพราะภาษาไอนุที่คุณยายสื่อสารกับพวกเรา ก่อนที่พวกเราจะรู้จักความ คุณยายได้สอนเราเกี่ยวกับมุมมองด้านศีลธรรมและมุมมองเกี่ยวกับธรรมชาติในชีวิตประจำวันอย่างละเอียด  ดังนั้นวัฒนธรรมไอนุที่เรียนในมหาวิทยาลัยจึงเป็นโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนวัฒนธรรมไอนุที่ซึมซับจากที่บ้านคือรายละเอียดของวัฒนธรรม (วัฒนธรรมไอนุของครอบครัวฉันในมุคาวะ) เหตุผลหลักที่ฉันอยากทำงานในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก็เพราะว่าฉันต้องการสื่อสารกับผู้คนเกี่ยวกับวัฒนธรรมไอนุที่คุณยายสอนฉันและวัฒนธรรมไอนุที่ฉันได้รับสืบทอดมาให้มากขึ้น ฉันยังหวังว่าจะส่งต่อและเผยแพร่วัฒนธรรมไอนุที่ฉันได้รับจากคุณยาย ซึ่งเป็นวัฒนธรรมไอนุในเมืองมุคาวะ  ฉันมีความเชี่ยวชาญด้านการแนะนำทักษะด้านศิลปะ  อาทิ เช่น การร้องเพลง การเต้นรำ และศิลปะอื่นๆ

วัฒนธรรมไอนุมีภาษาท้องถิ่นของตนเองที่แตกต่างกันในแต่ละภูมิภาค และมีความแตกต่างกันในวัสดุก่อสร้างบ้าน จึงไม่สามารถสรุปได้โดยง่ายว่าเป็น "วัฒนธรรมชนเผ่าไอนุ"  ฉันคิดว่านี่คือสิ่งที่น่าค้นหาและน่าสนใจของชนเผ่าไอนุ และแน่นอนว่าความแตกต่างเหล่านั้นสามารถสำรวจได้จากวรรณกรรมและสื่ออื่นๆ แต่หลังจากทำงานในชิราโออิ ฉันได้เรียนรู้วัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของชิราโออิมากมายจากบรรพบุรุษและเพื่อนร่วมงานของฉัน ดังนั้นฉันจึงให้ความสนใจวัฒนธรรมชนเผ่าไอนุที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ในเวลาเดียวกัน ฉันก็อดไม่ได้ที่จะคิดว่าแล้วบ้านเกิดของฉันล่ะ?  และความตระหนักรู้ของฉันในฐานะชนเผ่าไอนุก็ค่อนข้างแข็งแกร่งขึ้น

 

การดำรงชีวิตแบบชาวไอนุ——มุ่งสู่อนาคต——

ปัจจุบันฉันทำงานที่อุโปะโปย หน้าที่หลักของฉันคือการอธิบายเกี่ยวกับวิถีชีวิตในอดีตและปัจจุบันของวัฒนธรรมไอนุและแนะนำศิลปะการแสดงแก่ผู้มาเยี่ยมชม การทำงานในแต่ละวันของฉัน ได้พูดคุยกับผู้มาเยี่ยมชม ฉันมักถูกตั้งคำถามเช่นนี้เกือบทุกวัน:“ยังมีชนเผ่าไอนุหลงเหลืออยู่ไหม? พวกเขาใช้ชีวิตแบบไหน?” ฉันจะตอบอีกฝ่ายว่า "ฉันเป็นชาวไอนุ ก็ใช้ชีวิตเหมือนคนทั่วไป" อย่างไรก็ตาม ยังมีส่วนหนึ่งที่ค่อนข้างอคติ เช่น "ชาวไอนุสูญพันธุ์แล้วหรอ" หรือ "ชาวไอนุตอนนี้ใช้ชีวิตแบบดั้งเดิมอยู่ไหม" ดังนั้น ในฐานะชาวไอนุ ภารกิจของฉันที่อุโปะโปย คือการสื่อสารเกี่ยวกับวัฒนธรรมไอนุที่สืบทอดมาจากครอบครัวของฉัน และวิถีชีวิตของชาวไอนุที่ยังคงมีอยู่ในปัจจุบันให้ผู้คนได้รู้จักมากยิ่งขึ้น

นอกจากคนญี่ปุ่นแล้ว อุโปะโปยยังมีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศอีกมากมาย ไม่ใช่แค่ชาวไอนุเท่านั้นที่ทำงานในอุโปะโปย เรายังมีพนักงานรวมถึงคนที่ไม่ใช่ชาวไอนุ ชาวไอนุ ชาวต่างชาติ และผู้พิการ ถือเป็นปรัชญาการก่อตั้งอุโปะโปยในการอยู่ร่วมกันทางชาติพันธุ์ การให้ทุกคนได้รู้จัก "ชาวไอนุในปัจจุบัน" แสดงให้เห็นถึงการทำให้ทุกคนเข้าใจว่าในโลกนี้มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์และความหลากหลายทางอัตลักษณ์ ด้วยความเอาใจใส่และความใจกว้างซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของคำว่า "การอยู่ร่วมกันทางชาติพันธุ์" ฉันหวังว่าจะใช้อัตลักษณ์ประจำชาติของฉันเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงและส่งเสริมวัฒนธรรมไอนุต่อไปในอนาคต