:::

“ไม่ใช่เพียงบันทึกการท่องเที่ยว” แต่คือการบอกเล่าเรื่องราวชีวิตของแรงงานผ่านบทเพลงและศิลปะร่วมสมัย

แนะนำหน่วยงาน:พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยไทเป (Museum of Contemporary Art Taipei)

พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยไทเปก่อตั้งเมื่อปี 2001 เป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะที่เน้นจัดแสดงศิลปะร่วมสมัยแห่งแรกของไต้หวัน ผู้เข้าชมสามารถสำรวจวัฒนธรรมและสังคมศิลปะร่วมสมัยได้อย่างลึกซึ้งผ่านการจัดแสดงและกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ

แนะนำผู้เขียน:

จานฮว้าจื้อ: จบปริญญาเอกสาขาการจัดการศิลปะและนโยบายเชิงวัฒนธรรมจากมหาวิทยาลัยศิลปะแห่งชาติไต้หวัน เคยรับตำแหน่งเลขาธิการสมาคมทัศนศิลป์ต้หวัน ประธานกรรมการบริหารศูนย์ศิลปะดิจิตอลไทเป ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าหน่วยวิจัยของพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยไทเป

ลั่วลี่เจิน:ผู้เชี่ยวชาญศิลปะร่วมสมัย ผู้สร้างสรรค์และวิจัยมีเดียอาร์ตสมัยใหม่ ศิลปินและนักวิจารณ์ศิลปะ อาจารย์สอนศิลปะ นักวิจัยกระแสและการตลาดดิจิตอล ปัจจุบันได้รับเชิญมาทำงานให้กับสาขาการโฆษณาและการประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยซื่อซินเป็นการชั่วคราว และรับตำแหน่งผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยไทเป


ปัจจุบันการพูดคุยเกี่ยวกับศิลปะร่วมสมัยมิอาจแบ่งแยกออกจากสังคมได้ เมื่อผู้ชมได้รับความคิดที่ส่งผ่านผลงานศิลปะและข้อมูลต่างๆที่ได้รับจากการอ่าน ผู้ชมก็ควรจะมีอิสระที่จะได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกัน พิพิธภัณฑ์ศิลปะเป็นหนึ่งในพลังที่จะช่วยผลักดันการเคลื่อนไหวในสังคม ทางพิพิธภัณฑ์หวังว่าเมื่อผู้ชมรับชมงานนิทรรศการจะได้รับข้อคิด ความรู้สึกต่างๆและสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันได้ การสร้างความเคลื่อนไหวและการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตเป็นหัวใจหลักสำคัญที่ไม่อาจมองข้ามได้ของศิลปะร่วมสมัย

พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยไทเปมุ่งมั่นที่จะสร้างพื้นที่พูดคุยแลกเปลี่ยนประเด็นต่างๆในสังคมปัจจุบัน

เนื่องจากปณิธานของพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยไทเปดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ในช่วงหลายปีมานี้เมื่อทางพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยไทเป (ต่อไปจะเรียกโดยย่อว่า พิพิธภัณฑ์) จะวางแผนออกแบบนิทรรศการ ทางพิพิธภัณฑ์จะติดตามปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนหลายๆเรื่องด้วยกัน เช่น ในปี2017 สภานิติบัญญัติได้ตีความรัฐธรรมนูญ และประกาศว่า “กฎหมายแพ่ง” ที่ไม่ครอบคลุมเรื่องอิสระในการแต่งงาน และสิทธิความเท่าเทียมกันของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ยังได้ร้องขอให้หน่วยงานนิติบัญญัติแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องหรือร่างกฎหมายใหม่ให้โดยเฉพาะ และจะแล้วเสร็จภายในเวลาสองปี เพื่อรักษาสิทธิในการแต่งงานของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ทำให้ไต้หวันกลายเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ออกกฎหมายสมรสเท่าเทียมออกมา ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นทางพิพิธภัณฑ์ก็ได้จัดนิทรรศการ “แสงสว่าง ร่วมกันใช้ – นิทรรศการศิลปะร่วมสมัยเอเชียหัวข้อLGBTQ” โดยมีคุณหูเฉาเซิ่งเป็นผู้ออกแบบขึ้น นับว่าเป็นครั้งแรกในไต้หวันที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะของรัฐบาลจัดงานนิทรรศการหัวข้อLGBTQปัญหาเกย์ขนาดใหญ่ขึ้น ความสำคัญของงานนิทรรศการนี้มากมายจนมิอาจจะกล่าวได้หมด ลานกว้างหน้าพิพิธภัณฑ์มีผลงานศิลปะของคุณจ้วงจื้อเหวยที่มีชื่อว่า “สายรุ้งกลางความมืด”ตั้งอยู่ เป็นผลงานที่ผู้ชมสามารถขีดเขียนความลับดำมืดที่ซ่อนอยู่ในตัว เสียงกรีดร้องอันไร้เสียง เสียงร้องไห้แห่งความไม่เท่าเทียม ไปพร้อมกับคำอวยพร คำชื่นชม เป็นการส่งเสียงความในใจให้ผู้คนในสังคมรับรู้ ตู้สีดำขนาดใหญ่ได้รับการขีดเขียนความในใจจากผู้คนจำนวนมากจนส่องแสงสว่างกลายเป็นพลังแห่งสายรุ้ง ต่อมาผลงานศิลปะชิ้นนี้ได้หมุนเวียนจัดแสดงที่กรุงเทพ ประเทศไทย ฮ่องกง และที่อื่นๆด้วย ข้างต้นคือหนึ่งในตัวอย่างของการใช้ศิลปะร่วมสมัยเปิดพื้นที่พูดคุยหัวข้อต่างๆในสังคมอย่างต่อเนื่อง

ภาพถ่ายบันทึกผลงาน “สายรุ้งกลางความมืด” ผู้มอบภาพถ่าย:พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยไทเป

ภาพถ่ายบันทึกผลงาน “สายรุ้งกลางความมืด” ผู้มอบภาพถ่าย:พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยไทเป

ในหลายปีมานี้ทางพิพิธภัณฑ์ได้ติดตามประเด็นต่างๆในสังคม ไม่ว่าจะเป็น เรื่องชนพื้นเมือง เรื่องแรงงานข้ามชาติ เรื่องผู้ตั้งรกรากใหม่ เป็นต้น การดำเนินการเชิงรูปธรรมของทางพิพิธภัณฑ์ได้แก่ วางแผนจัดนิทรรศการหัวข้อต่างๆ จัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ “ลอดรูตามหาแม่” นอกจากนี้ยังร่วมมือกับสถานีวิทยุแห่งชาติไต้หวัน (ต่อไปจะเรียกโดยย่อว่าสถานีวิทยุไต้หวัน)ทำแผนพาเที่ยวชมนิทรรศการหลายภาษา เปิดPodcastพูดคุยเกี่ยวกับการอพยพ เขตแดน และแรงงาน เป็นต้น ยิ่งไปกว่านั้นทางพิพิธภัณฑ์กำลังจะจัดงานนิทรรศการนานาชาติ “BLEED นิทรรศการชีวิตประจำวันในโลกดิจิตอลทุกสองปี” งานนิทรรศการนี้เป็นงานที่ร่วมมือกับทีมงานของประเทศออสเตรเลีย และจะเปิดงานในช่วงปลายเดือนสิงหาคมนี้ ในงานจะมีส่วนจัดแสดงในหัวข้อสิทธิมนุษยชนที่สำคัญที่ไม่อาจมองข้ามในไต้หวัน

ในหลายปีมานี้ทางพิพิธภัณฑ์ได้ผลักดันบริการพาเที่ยวในหลายภาษา  ผู้มอบภาพถ่าย:พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยไทเป

ในหลายปีมานี้ทางพิพิธภัณฑ์ได้ผลักดันบริการพาเที่ยวในหลายภาษา ผู้มอบภาพถ่าย:พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยไทเป

“ไม่ใช่เพียงบันทึกการท่องเที่ยว”

“ไม่ใช่เพียงบันทึกการท่องเที่ยว”

“ไม่ใช่เพียงบันทึกการท่องเที่ยว” สะท้อนถึงร่องรอยประวัติศาสตร์การอพยพของแรงงานไทยไต้หวัน

เนื้อหาภายในงานนิทรรศการนี้อ้างอิงจากผลการลงพื้นที่สำรวจ และผลการนัดสัมภาษณ์วิจัยนานกว่าสองปีของกลุ่มวิจัยข้ามชาติ ทั้งนี้นิทรรศการนี้มีจุดเริ่มต้นจากนิทรรศการ “แคนล่อง คะนองลำ” ในหอศิลป์บ้านจิมทอมป์สันเมื่อปี2015 เบื้องหลังมีทีมงานหลายๆทีมที่คอยติดตามเรื่องสิทธิของชนกลุ่มน้อยที่หลากหลายเป็นเวลานาน หนึ่งในนั้นได้แก่คุณกฤติยา กาวีวงศ์ ผู้อำนวยการหอศิลป์บ้านจิมทอมป์สัน คุณถนอม ชาภักดี นักวิจารณ์ศิลปะชำนาญการ คุณอาทิตย์ มูลสาร นักวิชาการหมอลำ และทีมจัดนิทรรศการจากไต้หวัน ไม่ว่าจะเป็นคุณจงซื่อฟาง คุณจางเจิ้ง คุณเลี่ยวอวิ๋นจาง เป็นต้น คุณจงซื่อฟาง ผู้ร่วมจัดนิทรรศการแคนล่อง คะนองลำได้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับงานศิลปะและการแสดงของชนกลุ่มน้อยหลากหลายมาโดยตลอด ทั้งยังก่อตั้งค่ายเพลง “กลุ่มดนตรีต้นไม้ใหญ่” นอกจากนี้ยังผลักดัน “งานเทศกาลดนตรีเพลงเรร่อน” ที่รวบรวมเพลงพื้นเมือง และเพลงรากหญ้ามานานกว่ายี่สิบปี และงานเทศกาลดนตรีอิสระที่มีหัวข้อร่วมสมัยอยู่ในกระแสขณะนั้นด้วย เพื่อให้ผู้ชมได้สัมผัสถึงความพิเศษและความน่าประทับใจของวัฒนธรรมที่หลากหลายผ่านการรับฟังบทเพลงพื้นเมือง และบทเพลงขับขานทุกรูปแบบ ส่วนคุณจางเจิ้ง และคุณเลี่ยวอวิ๋นจางทั้งสองท่านได้ติดตามปัญหาแรงงานเอเชียอาคเนย์ในไต้หวันมายาวนาน ก่อนหน้านี้เคยเข้าร่วมทำ “หนังสือพิมพ์สี่ฝั่ง” สิ่งพิมพ์ 6 ภาษาได้แก่ ภาษาเวียดนาม ภาษาไทย ภาษาอินโดนีเซีย ภาษาฟิลิปปินส์ ภาษากัมพูชา และภาษาพม่า เปิดร้านหนังสือBrilliant time ร้านหนังสือภาษาอาเซียน เพื่อผลักดัน “แผนสะพานเชื่อมสัมพันธ์ผู้หญิงข้ามชาติ” จัดให้มี “ทุนการศึกษาสำหรับแรงงานข้ามชาติ” ฯลฯ ทั้งสองท่านใช้มุมมองเชิงวัฒนธรรมเชิญชวนคนทั่วไปให้มาเข้าร่วมกับการเคลื่อนไหวในสังคม และทำให้หัวข้อสิทธิมนุษยชนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น

“ไม่ใช่เพียงบันทึกการท่องเที่ยว”ได้จัดแสดงเนื้อหาวัฒนธรรมอีสานซึ่งเป็นวัฒนธรรมพิเศษของไทยได้อย่างเป็นระบบ โดยใช้ “หมอลำ” เพลงพื้นบ้านอีสานดั้งเดิมที่มีความสำคัญในภาคอีสานเป็นนตัวหลัก และบอกเล่าเรื่องราวที่ไม่ได้เป็นที่รู้จักอย่างเป็นทางการและแตกต่างจากวัฒนธรรมกระแสหลักของไทย “หมอลำ”ได้รับการขนานนามว่าเป็นจิตวิญญาณแห่งอีสาน ประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงของเพลงก็สามารถสะท้อนถึงการเปลี่ยนผ่านอำนาจทางการเมืองในช่วงก่อน และหลังสงครามเย็นได้ ในทำนองเดียวกันไต้หวันในยุคอาณานิคมญี่ปุ่นก็มีเพลง “หลินปัน” เพลงแรงงานชาวพื้นเมืองที่อพยพจากหมู่บ้านบนภูเขาเข้าสู่ตัวเมือง การทำมาหากินเพื่อหาเลี้ยงชีพ แรงงานชาวพื้นเมืองจะร้องเพลงเพื่อปลดปล่อยความรู้สึกคิดถึงบ้าน ความต้องการคู่รัก และความทุกข์ร้อนในชีวิต นอกจากนี้เนื้อเพลงยังบันทึกเลือดเนื้อของการต่อสู้เพื่อสิทธิ และความขัดแย้งเกี่ยวกับเรื่องที่ดินถิ่นอาศัย คุณจงซื่อฟางผู้จัดนิทรรศการเห็นว่าบทเพลงพื้นบ้านนี้เป็นสิ่งที่สื่อถึงอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนที่เที่ยงตรง ในงานนิทรรศการ “ไม่ใช่เพียงบันทึกการท่องเที่ยว” จึงเลือกใช้บทเพลง “หมอลำ” และเพลง “หลินปัน” ที่สื่อถึงร่องรองแห่งวัฒนธรรมของสองสายนี้ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาทางสังคมที่รวดเร็วของไทยและไต้หวัน

อีกมุมหนึ่งในพื้นที่จัดแสดง “พวกเราไม่ได้มาเที่ยว” ของคุณจางเจิ้งและคุณเลี่ยวอวิ๋นจาง ได้จัดแสดงประวัติศาสตร์แรงงานเอเชียอาคเนย์ที่มีมานานกว่าสามสิบปี  ทั้งยังจัดแสดงบทความในหนังสือพิมพ์สี่ฝั่ง รายการร้องเพลง “ร้องสี่ฝั่ง” เอกสารคำร้องและวีดีทัศน์บันทึกความจริงเกี่ยวกับชีวิตแรงงานหลบหนี บริเวณพื้นที่จัดแสดงงานได้เลือกใช้รูปแบบของ  “ห้องสมุดบนพื้น”  ภายในสถานีรถไฟไทเป  โดยในห้องสมุดจะมีผลงานเขียนที่ได้รับรางวัล  “วรรณกรรมแรงงานข้ามชาติ” และจะเปิดให้บริการยืมอ่านแบบเดียวกับห้องสมุดบนพื้นที่สถานีรถไฟไทเปที่หยุดให้บริการไปเพราะการระบาดของโรคโควิด19ในช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์ด้วย


เนื่องจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยไทเปและสถานีรถไฟไทเปไม่ไกลกันมาก ตั้งแต่ที่คุณลั่วลี่เจินขึ้นรับตำแหน่งผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยไทเป คุณลั่วลี่เจินก็คิดมาโดยตลอดว่าจะทำอย่างไรให้แรงงานต่างชาติที่ชอบไปสถานีรถไฟไทเปในวันหยุดเสาร์อาทิตย์มีโอกาสมาเดินเยี่ยมชมนิทรรศการของทางพิพิธภัณฑ์ที่เน้นเรื่องวัฒนธรรมและสิทธิมนุษยชนที่เท่าเทียมกันได้ ในปี2021ทางพิพิธภัณฑ์ได้ร่วมมือกับสถานีวิทยุไต้หวัน ได้เชิญผู้ดำเนินรายการวิทยุมาพูดนำเที่ยวนิทรรศการต่างๆ ให้ผู้ฟังหลากหลายเชื้อชาติได้รับฟัง ในปัจจุบันมีภาษาอินโดนีเซีย ภาษาไทย ภาษาญี่ปุ่น ภาษาเกาหลี ฯลฯ ถือเป็นการช่วยส่งเสริมให้ผู้คนหลากหลายเชื้อชาติได้มีส่วนร่วมกับงานนิทรรศการ งานนิทรรศการในครั้งนี้ได้เชิญชวนเพื่อนๆ แรงงานข้ามชาติมาร่วมทำกิจกรรมเขียนการ์ดในบริเวณโต๊ะหน้างาน เมื่อเขียนการ์ดแล้วจะสามารถเข้าชมนิทรรศการได้ฟรี ทางพิพิธภัณฑ์ได้วางแผนเพื่อให้ปณิธานของทางพิพิธภัณฑ์ที่เน้นเรื่องความเสมอภาคและวัฒนธรรมให้เป็นจริงผ่านกลยุทธ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการรวมพลังของสื่อหลากหลายแขนง บริการหลายภาษา ความร่วมมือระหว่างสาขาอาชีพที่หลากหลาย ให้เข้าชมนิทรรศการฟรี ฯลฯ

กิจกรรมใช้ภาษาอินโดนีเซียนำเที่ยวนิทรรศการ “ไม่ใช่เพียงบันทึกการท่องเที่ยว”  ผู้มอบภาพถ่าย:พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยไทเป

กิจกรรมใช้ภาษาอินโดนีเซียนำเที่ยวนิทรรศการ “ไม่ใช่เพียงบันทึกการท่องเที่ยว” ผู้มอบภาพถ่าย:พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยไทเป

นอกจากนี้ คุณจงซื่อฟางและนักออกแบบนิทรรศการชาวไทยอีกสามท่านได้ร่วมออกแบบนิทรรศการ “รอฉันหน่อยอีกสามปี” ซึ่งคำว่าสามปีนั้นหมายถึงช่วงเวลาสัญญาที่แรงงานต่างชาติเซ็นสัญญากับบริษัทที่ทำงานในไต้หวันต่อครั้ง ซึ่งเป็นความหวังของแรงงานต่างชาติที่จะอยากยกระดับชีวิต และสิ่งแวดล้อมรอบๆตัวให้ดีขึ้น กลุ่มศิลปินไทยและไต้หวันทั้งหมด 11 กลุ่มเลือกที่จะรังสรรค์เชิงศิลป์ในหลากหลายรูปแบบ อาทิ ภาพยนตร์ วีดีทัศน์ และการจัดภาพและเสียง ฯลฯ ในการสร้างผลงานศิลปะที่สอดคล้องกับหัวข้อนิทรรศการ โดยใช้เสียงเพลง การเต้นระบำหมอลำ และหลินปันเป็นหลัก เล่าบรรยายปัญหาการดำรงชีวิตของแรงงานซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางภายใต้สภาพการเมือง และเศรษฐกิจของไทยและไต้หวัน รวมถึงการดิ้นรน และความสิ้นหวังในการได้รับการยอมรับภายใต้สภาพสังคมชาตินิยม

ข้อมูลเอกสารทางประวัติศาสตร์ และวีดีโอดนตรีเพลงพื้นบ้าน “หมอลำ” ที่จัดแสดงในนิทรรศการ “ไม่ใช่เพียงบันทึกการท่องเที่ยว” ผู้มอบภาพถ่าย:พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยไทเป ผู้ถ่ายภาพ: ANPIS FOTO หวางซื่อปัง

ข้อมูลเอกสารทางประวัติศาสตร์ และวีดีโอดนตรีเพลงพื้นบ้าน “หมอลำ” ที่จัดแสดงในนิทรรศการ “ไม่ใช่เพียงบันทึกการท่องเที่ยว” ผู้มอบภาพถ่าย:พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยไทเป ผู้ถ่ายภาพ: ANPIS FOTO หวางซื่อปัง

จิตวิญญาณต่อต้านที่ไร้วันสิ้นสุด

ประวัติศาสตร์ได้สอนพวกเราไว้ว่าเส้นทางการต่อสู้เพื่อสิทธิอันเท่าเทียมเป็นเส้นทางที่เต็มไปด้วยอุปสรรค และความท้าทายหลายประการ ตอนเริ่มประชุมวางแผนนิทรรศการนี้ ทีมงานได้ประเมินและพิจารณาจากหลายๆ ด้านว่าจะใส่ผลงานของ Molam Bank (ชื่อศิลปิน) หรือไม่ Molam Bank เป็นศิลปินที่ใช้หมอลำขับร้องเรื่องราวผู้ต่อสู้ต่อต้านรัฐบาล และวิพากษ์วิจารสถาบันกษัตริย์ไทยมาโดยตลอด ตั้งแต่ปี2015เป็นต้นมาศิลปินท่านนี้ก็ถูกจำคุกหลายครั้ง เนื่องจาก Molam Bank ต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่โหดร้ายภายในเรือนจำเป็นเวลานาน ผนวกกับโดนปฏิบัติอย่างโหดร้ายซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยที่ไม่มีใครรับรู้ จึงทำให้สภาพร่างกาย และจิตใจของ Molam Bank ไม่ค่อยจะสู้ดีนัก ทีมงานจัดนิทรรศการได้รวมพลังจนสามารถกำหนดข้อตกลงกับศิลปินท่านนี้ได้  สามารถนำเสียงของผู้ต่อต้านที่ปัจจุบันทางรัฐบาลไทยห้ามไม่ให้เผยแพร่ในประเทศไทยข้ามน้ำข้ามทะเลมาจัดแสดงในนิทรรศการนี้ที่ไต้หวัน ทำให้ผู้เข้าชมนิทรรศการสามารถรับรู้ได้ถึงสภาพความลำบากที่แท้จริงที่กลุ่มคนส่วนน้อยนี้กำลังเผชิญอยู่

นิทรรศการที่ทางพิพิธภัณฑ์จัดวางแผนมักจะก่อกระแสทำให้ผู้คนหลายๆ ฝ่ายถกเถียงกัน
ในปี2020 ทางพิพิธภัณฑ์ได้นำนิทรรศการ “ความไม่อิสระในการแสดงออก” ผลงานจากนักวางแผนนิทรรศการชาวญี่ปุ่น คุณอะราอิ ฮิโรยูกิ และคุณโอคาโมโตะ ยูกะ มาจัดแสดงที่ไต้หวันเมื่อปี2019 นิทรรศการนี้เคยจัดในงานนิทรรศการศิลปะจังหวัดไอจิ ประเทศญี่ปุ่นแล้วเกิดกระแสโต้เถียงเป็นอย่างมาก ซ้ำร้ายต่อมายังเจออุปสรรคมากมาย อาทิ เปิดงานให้เข้าชมเพียงสามวันก็ต้องปิดงานกะทันหัน ดราม่าการกลับมาเปิดนิทรรศการอีกครั้งก่อนจะหมดเวลาจัดแสดงหนึ่งสัปดาห์ เป็นต้น นิทรรศการนี้ได้ถูกจัดแสดงอีกครั้งที่สวนสันติภาพบนเกาะเชจู ประเทศเกาหลีใต้และประเทศไต้หวัน หลังจากที่ประกาศข่าวคราวเกี่ยวกับนิทรรศการนี้ไป ทางพิพิธภัณฑ์ก็ได้รับเสียงต่อต้านจากสื่อสังคมออนไลน์ทันที มีชาวเน็ตบางท่านคอมเมนต์ว่านิทรรศการนี้จะทำลายความสัมพันธ์ไต้หวันญี่ปุ่น เรียกร้องให้ยุติการจัดนิทรรศการ ต่อมาทางพิพิธภัณฑ์ได้รับคำเตือนจากหลายฝ่าย รวมถึงคำขอร้องให้ทางพิพิธภัณฑ์คิดพิจารณาอีกครั้งว่าจะจัดหรือไม่ ท้ายที่สุดทางพิพิธภัณฑ์ยืนยันที่จะรักษาสิทธิในการแสดงออก และความหลากหลายในการแสดงจุดยืนที่แตกต่าง หลังจากพูดคุยต่อรองกับทุกฝ่าย นิทรรศการนี้ก็สามารถจัดแสดงได้อย่างราบรื่น

ในช่วงของการเริ่มวางแผนจัดนิทรรศการ “ไม่ใช่เพียงบันทึกการท่องเที่ยว” นี้ ทางพิพิธภัณฑ์ร่วมกับทีมงานจัดนิทรรศการได้ประเมินและพูดคุยเกี่ยวกับผลงานหลายชิ้นที่อาจจะก่อให้เกิดกระแสดราม่าได้ในสังคมอย่างต่อเนื่อง ด้วยประสบการณ์ข้างต้นนี้ทางพิพิธภัณฑ์ตั้งใจที่จะแสดงให้เห็นว่าพิพิธภัณฑ์ศิลปะประจำเมืองเปรียบเสมือนภาชนะที่รองรับนิทรรศการได้ทุกรูปแบบ จะทำอย่างไรให้รับและจัดแสดงเนื้อหาได้ทุกรูปแบบ รักษาอิสระในการแสดงออก และคำนึงถึงวิจารณญาณของผู้เข้าชมที่จะได้สัมผัสนิทรรศการโดยตรงทุกๆท่าน

สังคมที่พัฒนาแล้วจำเป็นต้องฟังเสียงเรียกร้องที่หลากหลาย เชื่อมั่นว่าการเปิดอกพูดคุย และทำความเข้าใจร่วมกันจะเกิดขึ้นได้เมื่อได้ถกเถียง สื่อสารและประณีประนอมกันอย่างต่อเนื่อง ระหว่างที่จัดนิทรรศการ “ไม่ใช่เพีงบันทึกการท่องเที่ยว” ทางพิพิธภัณฑ์ได้ทราบข่าวร้ายว่าหนึ่งในผู้จัดนิทรรศการชาวไทย คุณถนอมได้เสียชีวิตลง ทั้งชีวิตของคุณถนอมยืนหยัดที่จะอยู่เคียงข้างผู้ที่ไร้สิทธิ์ไร้เสียง ใช้ความกล้าและศรัทธาที่ยิ่งใหญ่ต่อสู้กับแรงกดดันและการกลั่นแกล้งของผู้ที่มีอำนาจอย่างกล้าหาญเด็ดเดี่ยว ทางพิพิธภัณฑ์เชื่อว่าแนวคิดที่ยิ่งใหญ่และทรงคุณค่านี้จะได้รับการปลูกฝังเข้าไปในใจของชาวไทยพร้อมกับการจากไปของคุณถนอม สุดท้ายนี้ทางพิพิธภัณฑ์ได้แสดงถึงการมีส่วนร่วมและอิทธิพลของพิพิธภัณฑ์ศิลปะที่มีต่อการเคลื่อนไหวของสังคมผ่านนิทรรศการ“ไม่ใช่เพียงบันทึกการท่องเที่ยว” ในครั้งนี้ เสียงแห่งการปฏิวัติจะกึกก้องออกไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด พร้อมกับดึงดูดให้ผู้ที่มีปณิธานที่แข็งแกร่งมารับช่วงต่อภารกิจแห่งการปฏิวัติต่อไป