:::

การปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนในประเทศอินโดนีเซีย ภายใต้สถานการณ์ COVID-19

ประวัติผู้เขียนErpan Faryadi

ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นผู้จัดการโครงการของเซอร์เคิลเพื่อการประชาสัมพันธ์และวิจัยแห่งเกาะบอร์เนียว (Link-AR Borneo) องค์กรชุมชนซึ่งมีบทบาทด้านการประชาสัมพันธ์ การรณรงค์ ตลอดจนการศึกษาและวิจัยในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ทรัพยากรธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และอำนาจอธิปไตยของประชาชนในกาลิมันตันตะวันตก ประเทศอินโดนีเซีย

ข้อมูลเกี่ยวกับ Link-AR Borneo

Link-AR Borneo (เซอร์เคิลเพื่อการประชาสัมพันธ์และวิจัยแห่งเกาะบอร์เนียว) คือองค์กรภาคเอกชนเพื่อการพัฒนา (NGO) จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ.2552 มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินงานสนับสนุนการจัดการปัญหาในวงกว้างจากการใช้ประโยชน์อุตสาหกรรมเหมืองแร่ ป่าไม้ รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติข้างต้นซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมสกัดโดยไร้การควบคุม ทั้งนี้ปัญหาต่างๆ ล้วนเกิดขึ้นจากผลประโยชน์เชิงเศรษฐศาสตร์การเมือง ซึ่งให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อความต้องการจัดหาวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ระดับโลก นั่นหมายความว่า ภาวะดังกล่าวไม่สามารถแยกขาดจากแผ่นดินบอร์เนียวอันอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติได้

ด้วยเหตุปัจจัยข้างต้น Link-AR Borneo จึงถือกำเนิดขึ้นเพื่อดำเนินงานประชาสัมพันธ์ตามหลักฐานเชิงประจักษ์ การประชาสัมพันธ์ดังกล่าวถือเป็นเครื่องชี้ชัดการดำเนินงานของ Link-AR Borneo ว่า สอดคล้องกับผลประโยชน์ต่างๆ ของชุมชนและความยุติธรรมทางนิเวศวิทยาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง นับตั้งแต่ก่อตั้งองค์กรเป็นต้นมา Link-AR Borneo ได้ทุ่มเทความพยายามอย่างยิ่งในด้านต่างๆ เพื่อการรักษาและปกป้องสิทธิมนุษยชน ตลอดจนส่งเสริมการพัฒนาระบบไปจนถึงความเป็นอิสระของชุมชนต่อการจัดการป่าไม้และผืนดินอย่างยั่งยืน


บัดนี้ได้เวลาอันสมควรแล้วที่จะประเมินนโยบายและการตอบสนองของรัฐบาลอินโดนีเซียต่อสถานการณ์ระบาดใหญ่ของ COVID-19 รวมถึงผลกระทบของนโยบายข้างต้นต่อประชาชนไปจนถึงการปฏิบัติตามและความเคารพในสิทธิมนุษยชน

เมื่อต้นปี พ.ศ.2563 (เดือนมกราคม - มีนาคม พ.ศ.2563) รัฐบาลอินโดนีเซียและเจ้าหน้าที่รัฐมิได้ตอบสนองต่ออุบัติการณ์ COVID-19 อย่างจริงจัง ซ้ำยังประเมินสถานการณ์ต่ำกว่าความเป็นจริงและไม่เชื่อว่ามีอุบัติการณ์ COVID-19 เกิดขึ้น อนึ่ง เมื่อต้นปี พ.ศ.2563 รองประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซียกล่าวว่า “ด้วยการสวดภาวนาจากผู้นำศาสนาของเรา COVID-19 จะไม่เกิดขึ้นในอินโดนีเซียอย่างแน่นอน” ส่วนประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซียก็ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในหมู่ประชาชนด้วยคำกล่าวที่ว่า "ประชาชนชาวอินโดนีเซียจะไม่ติด COVID-19 เพราะพวกเรามียาสมุนไพรดีๆ ดื่ม" เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2563 (ดูเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่ CNN อินโดนีเซีย, 16 มีนาคม พ.ศ.2563, “Media Asing Soroti Jokowi Minum Jamu Untuk Tangkal Corona”) การตอบสนองซึ่งไม่เป็นไปตามหลักวิทยาศาสตร์เหล่านี้คือพื้นฐานนโยบายจากรัฐบาลอินโดนีเซียต่อการจัดการสถานการณ์ระบาดใหญ่ของ COVID-19

มาตรการควบคุมสถานการณ์ COVID-19 โดยรัฐบาลอินโดนีเซีย

นับตั้งแต่ WHO ประกาศให้สถานการณ์ COVID-19 เป็นการระบาดใหญ่ระดับโลก เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2563 รัฐบาลควรเริ่มดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ อย่างเป็นระบบเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในประเทศอินโดนีเซียด้วยการรับฟังความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ (นักระบาดวิทยา) อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปัญหาหลักคือปัญหาสุขภาพ แต่รัฐบาลกลับรับฟังความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเพียงน้อยนิดและไม่ให้ความสำคัญในหลายครั้ง ยิ่งไปกว่านั้น ยังพบว่ามีอีกหลายกรณีที่ความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพขัดต่อรัฐบาลอีกด้วย ทั้งนี้นับตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ.2563 รัฐบาลอินโดนีเซียได้มอบหมายให้กองกำลังติดอาวุธแห่งชาติอินโดนีเซีย (Indonesian National Armed Forces, TNI) และตำรวจ ล็อกดาวน์ประชาชนไว้ในบ้าน[1] จำกัดการประกอบกิจกรรมทางศาสนา จำกัดการเดินทางของประชาชน ทั้งยังห้ามมิให้ประท้วงและวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล ซึ่งการตัดสินใจดังกล่าวอาจนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนต่างๆ โดยเฉพาะสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

ภายหลังจากประกาศข้างต้นที่กำหนดให้การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาเป็นสถานการณ์ระบาดใหญ่ระดับโลก รัฐบาลอินโดนีเซียได้ดำเนินมาตรการควบคุมต่างๆ แต่ไม่มี 'คำสั่งในระดับชาติ' ทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขให้ความเห็นว่า มาตรการต่างๆ ของ Jokowi นั้น "เชื่องช้า" และไม่เพียงพอต่อการรักษาความสงบในหมู่ประชาชน (ดูเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่ BBC News อินโดนีเซีย, 16 มีนาคม พ.ศ.2563, “Virus corona: Jokowi umumkan langkah pengendalian Covid-19, tapi tanpa komando nasional”)

นอกจากนี้ รัฐบาลยังนำเสนอข้อกำหนดและนโยบายใหม่เพื่อควบคุมสถานการณ์ระบาดใหญ่ของ COVID-19 ทุกเดือน ทว่าไร้ซึ่งนัยสำคัญต่อการป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในประเทศอินโดนีเซีย นั่นแสดงให้เห็นถึงความตื่นตระหนกและขาดทิศทางในการดำเนินนโยบายอย่างเป็นระบบจากรัฐบาลเพื่อแก้ไขสถานการณ์อันเนื่องมาจากโรคร้ายแรงชนิดนี้ในทุกระดับ

เจ้าหน้าที่รัฐ ยกตัวอย่างเช่น Juliari Batubara รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการสังคม ก็กระทำทุจริตต่อโครงการช่วยเหลือสังคม (bansos) ในส่วนอาหารขั้นพื้นฐานเพื่อบุคคลยากไร้ อันเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการควบคุมสถานการณ์ COVID-19 เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.2563[2] และนี่คือหนึ่งในการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐชาวอินโดนีเซียอันน่าละอายอย่างยิ่ง ท่ามกลางความยากลำบากของประชาชนผู้ต้องฝ่าฟันต่อความกดดันต่างๆ จากสถานการณ์ COVID-19

ทั้งนี้ด้วยจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจาก COVID-19 ที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากสถานการณ์ระบาดใหญ่ ส่งผลให้รัฐบาลอินโดนีเซียควบคุมสถานการณ์ต่างๆ ได้ยากลำบากยิ่งขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น ในขณะที่รัฐบาลควรมอบหลักประกันสิทธิด้านสุขภาพแก่ประชาชนอันเป็นหนึ่งในสิทธิมนุษยชน รวมถึงจัดให้มีอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลสำหรับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขผู้ปฏิบัติงานด่านหน้าอย่างเพียงพอ เพื่อต่อต้านวิกฤติร้ายแรงจากสถานการณ์ระบาดใหญ่ของโควิด-19 แต่ดูเหมือนว่า รัฐบาลจะไร้ประโยชน์ใดๆ นอกจากรายงานจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจาก COVID-19 ที่เพิ่มขึ้นในทุกวัน นับตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายน พ.ศ.2564

ผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 ต่อประชาชนชาวอินโดนีเซีย

นับตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ.2563 รัฐบาลอินโดนีเซียได้ออกนโยบายจำกัดกิจกรรมทางสังคมขนาดใหญ่ (PSBB) ด้วยวัตถุประสงค์มุ่งทำลายห่วงโซ่การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทว่านโยบายนี้กลับล้มเหลว ไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายทั่วไปสองข้อที่ WHO กำหนดให้ใช้ควบคุมสถานการณ์ COVID-19 นั่นคือ การลดอัตราแพร่ระบาดและเสียชีวิต ต่อมาในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2564 โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือสถานการณ์ระบาดใหญ่ของ COVID-19 ในประเทศอินโดนีเซียนั้น ทวีความร้ายแรงยิ่งขึ้นเพราะความลังเลของรัฐบาลในการเลือกระหว่างสุขภาพของประชาชนกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ตลอดเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2564 รัฐบาลอินโดนีเซียได้บังคับใช้มาตรการจำกัดกิจกรรมในชุมชนสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉิน (PPKM) บริเวณเกาะชวาและเกาะบาหลี โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 – 20 กรกฎาคม พ.ศ.2564 ด้วยความมุ่งหวังว่า การบังคับใช้มาตรการฉุกเฉิน PPKM บริเวณเกาะชวาและเกาะบาหลี จะระงับการแพร่ระบาดอย่างไม่หยุดยั้งของ COVID-19 และลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากสถานการณ์ระบาดใหญ่ครั้งนี้ได้ ส่วนพื้นที่นอกเกาะชวาและเกาะบาหลี รัฐบาลได้บังคับใช้มาตรการ PPKM Micro Darurat (มาตรการจำกัดกิจกรรมในชุมชนระดับจุลภาค ยกตัวอย่างเช่น ท้องถิ่นระดับ regency และ sub-districts) อย่างไรก็ตามนโยบายทั้งหมดของรัฐบาลแทบไม่มีผลใดๆ ต่อการบรรเทาสถานการณ์ COVID-19 ทว่าในทางกลับกัน อัตราแพร่ระบาดและเสียชีวิตจาก COVID-19 ในประเทศอินโดนีเซียยิ่งสูงขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง

บทบาทขององค์กรภาคประชาสังคมต่อสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศอินโดนีเซีย

องค์กรภาคประชาสังคม (CSO) ในประเทศอินโดนีเซีย ถือเป็นองค์กรที่ปฏิบัติงานอย่างแข็งขันมาตั้งแต่ยุคปฏิรูปหรือยุคหลังเผด็จการ องค์กรข้างต้นหลายแห่งในประเทศอินโดนีเซียมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่องานด้านสิทธิมนุษยชน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สุขภาพ การปฏิรูปกฎหมาย อธิปไตยทางอาหาร สิทธิต่างๆ ในที่ดินตลอดจนการปฏิรูป ปัญหาชาวนาและแรงงาน รวมถึงงานด้านอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งนี้องค์กรภาคประชาสังคมในประเทศอินโดนีเซียยังสามารถดึงดูดกลุ่มต่างๆ รวมถึงบุคคลจำนวนมากให้เข้าร่วมการดำเนินงานและการรณรงค์ต่างๆ ขององค์กร ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ ทนายความ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตร ไปจนถึงบุคลากรด้านอื่นๆ นั่นทำให้องค์กรภาคประชาสังคมทวีความน่าเชื่อถือและเพิ่มพูนประสบการณ์ในสาขาของตนยิ่งขึ้น หากกล่าวตามความเป็นจริง องค์กรภาคประชาสังคมในประเทศอินโดนีเซียนั้นมีส่วนสนับสนุนกระบวนการต่างๆ ทางประชาธิปไตยภายในประเทศเป็นอย่างมาก นับตั้งแต่ยุคหลังเผด็จการเป็นต้นมา (ภายหลังปี พ.ศ.2541)

องค์กรภาคประชาสังคมในประเทศอินโดนีเซียที่ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการควบคุมสถานการณ์ COVID-19 ได้แก่ แนวร่วมพลเมืองรายงานสถานการณ์ COVID-19 ทั้งนี้แนวร่วมพลเมือง LaporCovid-19 หรือ LaporCovid-19 ก่อตั้งขึ้นโดยกลุ่มบุคคลผู้ตระหนักถึงปัญหาสิทธิมนุษยชนพลเมืองและปัญหาด้านสาธารณสุขอันเกี่ยวเนื่องจากสถานการณ์ระบาดใหญ่ของ COVID-19 เมื่อต้นเดือนมีนาคม พ.ศ.2563 ภายหลังตรวจพบการแพร่ระบาดของ COVID-19 อย่างเป็นทางการ

LaporCovid-19 เป็นผู้สร้างแพลตฟอร์มสำหรับรายงานข้อมูลโดยพลเมือง เพื่อใช้เป็นแหล่งแบ่งปันข้อมูลอุบัติการณ์เกี่ยวกับ COVID-19 ที่ค้นพบโดยบุคคลทั่วไปผู้ไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือจากรัฐบาล

ด้วยการเลือกใช้กระบวนการ crowdsourcing ซึ่งอาศัยการมีส่วนร่วมจากประชาชนในการบันทึกค่าต่างๆ ตลอดจนรายงานปัญหาที่สืบเนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 โดยรอบบริเวณใกล้เคียง เป็นเสมือนสะพานบันทึกข้อมูลสถิติต่างๆ ท่ามกลางสถานการณ์ COVID-19 ภายในประเทศ ทำให้ LaporCovid-19 คือพื้นที่รวบรวมข้อมูลการแพร่ระบาดและความร้ายแรงของสถานการณ์ COVID-19 สำหรับรัฐบาลและประชาชนทั่วไปในประเทศอินโดนีเซียอย่างแท้จริง อนึ่ง ข้อมูลที่รวบรวมได้ผ่านช่องทางของ LaporCovid-19 จะป้อนเข้าสู่รัฐบาลเพื่อกำหนดนโยบายและขั้นตอนต่างๆ ในการควบคุมสถานการณ์ COVID-19 โดยอ้างอิงตามข้อมูลภาคสนามต่อไป

LaporCovid-19 ประกอบด้วย องค์กรภาคประชาสังคมต่างๆ ในประเทศอินโดนีเซีย ได้แก่ YLBHI, Tempo magazine, Efek Rumah Kaca, Transparency International Indonesia, Lokataru, Hakasasi.id, U-Inspire, STH Jentera, NarasiTV, Rujak Center for Urban Studies และ Indonesia Corruption Watch ทั้งนี้ YLBHI คือกลุ่มสิทธิมนุษยชนที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2513 เพื่อดำเนินงานติดตามพันธกรณีสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลอินโดนีเซียอย่างต่อเนื่อง ส่วน Tempo magazine นั้นเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม Tempo ซึ่งเน้นการดำเนินงานเรื่องสิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม และการทุจริตคอร์รัปชัน

ความวุ่นวายในการควบคุมสถานการณ์ COVID-19 ได้รับการเน้นย้ำโดยแนวร่วมภาคประชาสังคมอันประกอบด้วย LaporCovid-19, ICW, YLBHI, LP3ES และ Lokataru แนวร่วมดังกล่าวประเมินว่า รัฐบาลของ Jokowi ล้มเหลวต่อการควบคุมสถานการณ์ระบาดใหญ่ซึ่งประเทศอินโดนีเซียเผชิญ นับตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม พ.ศ.2563

ส่วน LaporCovid-19 วิจารณ์ว่า รัฐบาลล้มเหลวต่อการป้องกันอัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากปัญหาต่างๆ ในการควบคุมสถานการณ์ COVID-19 ทั้งนี้จากการรวบรวมข้อมูลของ LaporCovid-19 ยอดผู้เสียชีวิตอาจลดลงได้ตั้งแต่เริ่มต้น หากรัฐบาลดำเนินมาตรการป้องกันและควบคุมสถานการณ์อย่างรวดเร็วและจริงจัง ดูเนื้อหาเพิ่มเติมได้จากบทความ "Kasus Meninggal Melonjak & RS Kolaps, Negara Gagal Tangani COVID?", Tirto.id, 6 กรกฎาคม พ.ศ.2564, https://tirto.id/ght5 แม้ว่ารัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณถึง 695.2 ล้านล้านรูเปียห์อินโดนีเซีย เพื่อดำเนินกลยุทธ์ด้านการควบคุมสถานการณ์ COVID-19 ในปี พ.ศ.2563 ก็ตาม (ดูเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่ Kompas, 20 ธันวาคม พ.ศ.2563, “Kebijakan Pemerintah Menangani Covid-19 Sepanjang Semester II 2020”)

 

รายงานจำนวนผู้เสียชีวิตจากสถานการณ์ COVID-19 แบบรายวัน ในประเทศอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 – 4 สิงหาคม พ.ศ. 2564

รายงานจำนวนผู้เสียชีวิตจากสถานการณ์ COVID-19 แบบรายวัน ในประเทศอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 – 4 สิงหาคม พ.ศ. 2564

การฉีดวัคซีนและอัตราการเสียชีวิตจาก COVID-19

สำหรับระยะแรกเริ่ม ความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 แก่ประชาชนนั้นต่ำมาก เนื่องจากรัฐบาลและอุตสาหกรรมยาต่างมุ่งหาผลประโยชน์จากประชาชนผ่านโครงการฉีดวัคซีน โดยกำหนดให้ประชาชนต้องเสียค่าใช้จ่าย ทว่าท้ายที่สุด ภายหลังความพยายามในการยื้อแย่งผลประโยชน์อย่างหนักหน่วง รัฐบาลได้ประกาศให้โปรแกรมการฉีดวัคซีนในระดับชาติทั้งหมดเป็นบริการฟรีหรือไม่เสียค่าใช้จ่ายเพื่อประชาชนชาวอินโดนีเซียทุกคน

ประธานาธิบดี Jokowi ให้การรับรองว่า การฉีดวัคซีน COVID-19 ทั้งหมดจะกระทำโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด นี่คือการตัดสินใจภายหลังจากสั่งยกเลิกวัคซีนที่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ซึ่งวางแผนและดำเนินงานไปก่อนหน้านี้โดยรัฐวิสาหกิจ Kimia Farma (ดูเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่ Tempo.co, 16 กรกฎาคม พ.ศ.2564, “Batalkan Vaksinasi Berbayar, Jokowi Pastican Seluruh Vaksin Covid-19 Gratis ”)

ทั้งนี้ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในโครงการฉีดวัคซีน COVID-19 แก่ประชาชนยังแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลกำลังเล่นกับชีวิตของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 อนึ่ง เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ.2564 ประชาชนชาวอินโดนีเซียผู้ได้รับโปรแกรมการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยสมบูรณ์ (สองโดส) มีจำนวน 21 ล้านคน ทว่าตัวเลขนี้เป็นเพียงร้อยละ 10 ของเป้าหมายที่รัฐบาลต้องดำเนินการแก่ประชาชนทั้งหมด 208 ล้านคน (ดูเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่ Sindonews.com, 5 สิงหาคม พ.ศ.2564, “21 Juta Penduduk Indonesia Sudah Divaksin Covid-19 Secara Lengkap”)

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2565 สถานการณ์ต่างๆ ก็เริ่มดีขึ้น ชาวอินโดนีเซียกว่า 199 ล้านคนได้รับวัคซีนเข็มแรก หรือประมาณ 96 เปอร์เซ็นต์ของเป้าหมายทั้งหมด 208 ล้านคน ขณะที่ประชาชนชาวอินโดนีเซียผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 มีประมาณ 165 ล้านคน หรือประมาณ 34 เปอร์เซ็นต์ของเป้าหมาย ส่วนประชาชนชาวอินโดนีเซียผู้เสียชีวิตจาก COVID-19 มีจำนวน 156,273 คน (ดูเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่ https://covid.go.id, 1 พฤษภาคม พ.ศ.2565)

นอกจากนี้ ประเทศอินโดนีเซียยังประสบปัญหาเรื่องการทดสอบต่างๆ อีกด้วย การเสียค่าใช้จ่ายเพื่อทดสอบ COVID-19 ด้วยวิธี Polymerase Chain Reaction (PCR) และวิธีทดสอบแอนติเจนนั้น เป็นปัญหาใหญ่สำหรับผู้ยากไร้ในประเทศอินโดนีเซียอย่างแน่นอน ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2563 ประชาชนต้องใช้ความพยายามอย่างยิ่งยวดในการรวบรวมเงินเฉลี่ย 1,500,000 รูเปียห์อินโดนีเซีย มาเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อเข้ารับการทดสอบด้วยวิธี PCR

ขณะที่ประเทศอื่นๆ ดำเนินการทดสอบในรูปแบบฟรีหรือได้รับเงินอุดหนุน แต่ในประเทศอินโดนีเซีย ภาครัฐ บริษัทเภสัชกรรม และคลินิกเอกชนล้วนหาผลประโยชน์จากสถานการณ์ดังกล่าว โดยเรียกเก็บเงินจากประชาชนด้วยค่าใช้จ่ายที่สูงมากสำหรับการทดสอบ COVID-19 อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ.2564 รัฐบาลได้กำหนดราคากลางสำหรับการทดสอบด้วยวิธี PCR ในพื้นที่เกาะชวาและเกาะบาหลี ไว้ที่ 275,000 รูเปียห์อินโดนีเซีย ส่วนเกาะต่างๆ นอกพื้นที่เกาะชวาและเกาะบาหลี กำหนดไว้ที่ 300,000 รูเปียห์อินโดนีเซีย[1]

ข้อสรุป

สถานการณ์ระบาดใหญ่ของ COVID-19 ซึ่งในตอนแรกเป็นเพียงปัญหาสุขภาพ กลับกลายเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจและวิกฤติทางสังคมในบางประเทศ ยกตัวอย่างเช่น ประเทศมาเลเซียหรือบราซิล ประชาชนต่างลุกฮือบังคับให้รัฐบาลลาออก เนื่องจากรัฐบาลไร้ความสามารถต่อการควบคุมสถานการณ์ COVID-19 ภายในประเทศ

ส่วนประเทศที่อ่อนด้อยด้านระบบสาธารณสุขและฐานะทางเศรษฐกิจ ยกตัวอย่างเช่น ประเทศอินโดนีเซีย สถานการณ์ระบาดใหญ่ของ COVID-19 ได้ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อเศรษฐกิจและสุขภาพของประชาชน นอกจากนี้ การควบคุมสถานการณ์ COVID-19 ในประเทศอินโดนีเซียยังนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเจ้าหน้าที่รัฐในวงกว้าง พวกเขาบังคับและข่มขู่ประชาชนให้ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับด้านสุขภาพเพื่อต่อสู้วิกฤติ COVID-19 ส่วนรัฐบาลก็บังคับให้ประชาชนต้องเข้ารับการฉีดวัคซีนอีกด้วย

มูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศอินโดนีเซียลดลงทันทีท่ามกลางสถานการณ์ COVID-19 การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ลดลงอย่างมากจาก 5.02 เปอร์เซ็นต์ในปี พ.ศ.2562 กลายเป็นลบ 2.07% ในปี พ.ศ.2563 (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, พ.ศ.2564) สิ่งที่ตามมาคือ อัตราความยากจนที่เพิ่มสูงขึ้น โอกาสในการจ้างงานที่กำลังหมดไป การเลย์ออฟเกิดขึ้นได้ทั่วทุกที่ นำไปสู่ความชะงักงันของประเทศและไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) กล่าวโดยสรุป ผลกระทบจากสถานการณ์ระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัสโคโรนา ทำให้ชาวอินโดนีเซียประสบปัญหาทางการเงิน กลายเป็นบุคคลยากไร้ถึงประมาณ 10.98 เปอร์เซ็นต์ หรือ 4.86 ล้านคน (กระทรวงการคลัง, พ.ศ.2563 : 33)

อย่างไรก็ตาม ทุกสิ่งที่รัฐบาลจะดำเนินงานเพื่อรับมือกับสถานการณ์ระบาดใหญ่ของ COVID-19 ในปี พ.ศ.2564 ยังคงคลุมเครือ สับสน และก่อความยุ่งยากในชีวิตของประชาชนยิ่งขึ้นอีก แต่สิ่งที่ประจักษ์ชัดคือ จำนวนหนี้ต่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งกู้มาใช้ในการดำเนินงานต่างๆ อันเป็นผลสืบเนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 โดยเน้นที่มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจและโครงการฉีดวัคซีน

นับแต่นี้ ประชาชนชาวอินโดนีเซียจะระลึกถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2564 ว่า เป็นเดือนที่สถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 เลวร้ายที่สุด ระบบการดำเนินงานต่างๆ ในโรงพยาบาลล้มเหลว แม้แต่ท่อออกซิเจนก็หมด นำไปสู่การเสียชีวิตของผู้ป่วย COVID-19 อย่างรวดเร็ว ทั้งยาและท่อออกซิเจนล้วนราคาแพงและหาซื้อได้ยาก เนื่องจากอุตสาหกรรมยาเดินหน้าทำกำไร กอบโกยผลประโยชน์ท่ามกลางสถานการณ์ระบาดใหญ่ของ COVID-19

รัฐบาลก็มัวยุ่งอยู่กับการกล่าวโทษประชาชนว่า ไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับด้านสุขภาพ ทั้งยังกักขังทุกคนไว้ในบ้านอย่างเลื่อนลอยด้วยกฎเกณฑ์ที่เปลี่ยนแปลงทุกสัปดาห์ ความช่วยเหลือแทบไม่ตกถึงบุคคลยากไร้ มีเพียงแค่ข้าวสาร 10 กิโลกรัมเท่านั้น ส่วนโครงการช่วยเหลือสังคมด้วยสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐานเพื่อบุคคลยากไร้ อันเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการควบคุมสถานการณ์ COVID-19 ก็ถูกคอร์รัปชันโดย Juliari Batubara รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการสังคม สำหรับคดีนี้ ศาลพิพากษาให้ลงโทษจำคุกผู้กระทำผิดเป็นเวลา 12 ปี[2]

ผู้ป่วย COVID-19 ที่เสียชีวิตระหว่างเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2564 เปรียบเทียบกับเดือนมิถุนายน พ.ศ.2564 มีจำนวนเพิ่มขึ้น 348% หรือประมาณ 27,409 ราย (ดูเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่ Kompas, 5 สิงหาคม พ.ศ.2564, “Up 348 percent in July, Covid-19 Patient Deaths Expected to Decrease in August.") ส่วนระดับประเทศ ประชาชนชาวอินโดนีเซียผู้เสียชีวิตจาก COVID-19 ณ วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 156,273 คน (คณะทำงานเฉพาะกิจ COVID-19 แห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย) ทั้งนี้การเสียชีวิตโดยมากเกิดขึ้นในปี พ.ศ.2564

ในด้านสิทธิมนุษยชน รัฐบาลอินโดนีเซียก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากการควบคุมสถานการณ์ COVID-19 ภายในประเทศ เนื้อหาตามรายงานสิทธิมนุษยชนในประเทศอินโดนีเซียประจำปี พ.ศ.2564 (Indonesia 2021 Human Rights Report) ซึ่งเผยแพร่โดยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริการะบุว่า รัฐบาลอินโดนีเซียได้กระทำสิ่งที่ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนระหว่างสถานการณ์ COVID-19 โดยการบังคับให้ประชาชนชาวอินโดนีเซียใช้บริการของ PeduliLindungi ทั้งนี้แอปพลิเคชัน PeduliLindung ได้ละเมิดความเป็นส่วนตัวของประชาชนด้านการเดินทาง ทั้งยังขโมยข้อมูลส่วนบุคคลของพลเมืองโดยมิได้รับอนุญาต (ดูเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่ Kompas.com, 19 เมษายน พ.ศ.2565, "Need for a New World Order")

รายงานสิทธิมนุษยชนฉบับนี้จัดทำขึ้นโดยอ้างอิงข้อมูลจากองค์กรภาคเอกชนเพื่อการพัฒนาหลายแห่งในประเทศอินโดนีเซีย รวมถึงแหล่งข้อมูลอื่นๆ เกี่ยวกับสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศอินโดนีเซีย ระหว่างสถานการณ์ COVID-19 ด้วยเหตุนี้ รายงานสิทธิมนุษยชนซึ่งรวบรวมข้อมูลโดยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาจึงสามารถนำเสนอความจริงที่ไม่อาจเพิกเฉยได้ แม้ว่าเนื้อหาจะถูกหักล้างหรือปฏิเสธอย่างหนักจากเจ้าหน้าที่รัฐชาวอินโดนีเซียก็ตาม

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อศึกษาเนื้อหาตามรายงานโดยละเอียด คุณจะพบว่าสถานการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนไปจนถึงการเคารพสิทธิมนุษยชนในประเทศอินโดนีเซีย ระหว่างสถานการณ์ COVID-19 นั้นอยู่ในขั้นเลวร้าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนที่เกี่ยวข้องกับ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการรวมกลุ่ม เสรีภาพในการเดินทาง เสรีภาพส่วนบุคคล การจัดระเบียบประชาสังคมด้วยหลักการทหาร และการควบคุมเสรีภาพในการแสดงออก แม้ว่ามาตรการควบคุมต่างๆ โดยรัฐบาลอินโดนีเซียจะมีจุดมุ่งหมายเพื่อป้องกันการเสียชีวิตจาก COVID-19 ทว่าในความเป็นจริง เหยื่อผู้เสียชีวิตจาก COVID-19 ในประเทศอินโดนีเซียก็สูงถึง 156,273 ราย ณ วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2565 สรุปได้ว่า แรงกดดันตลอดจนมาตรการควบคุมต่างๆ ของรัฐบาลอินโดนีเซีย ระหว่างสถานการณ์ COVID-19 อันละเมิดต่อหลักสิทธิมนุษยชนนั้น ไม่ชอบธรรมและไม่สมเหตุสมผลอย่างยิ่งในสายตาของประเทศประชาธิปไตยผู้ให้ความสำคัญต่อการเคารพสิทธิมนุษยชน

แหล่งอ้างอิง

BBC News อินโดนีเซีย, 16 มีนาคม พ.ศ.2563, “Virus corona: Jokowi umumkan langkah pengendalian Covid-19, tapi tanpa komando nasional.”

BBC News อินโดนีเซีย, 23 สิงหาคม พ.ศ.2564, “Juliari Batubara divonis 12 tahun penjara.”

สำนักงานสถิติแห่งชาติ, สาธารณรัฐอินโดนีเซีย, พ.ศ.2564.

คณะทำงานเฉพาะกิจ COVID-19 แห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย, ดูเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่ https://covid.go.id, 1 พฤษภาคม พ.ศ.2565.

CNN อินโดนีเซีย, 16 มีนาคม พ.ศ.2563, “Media Asing Soroti Jokowi Minum Jamu Untuk Tangkal Corona.”

Kementerian Keuangan (กระทรวงการคลัง) สาธารณรัฐอินโดนีเซีย, Kerangka Ekonomi Makro dan Pokok-pokok Kebijakan Fiskal Tahun 2021: Percepatan Pemulihan Ekonomi dan Penguatan Reformasi. Jakarta: Kementerian Keuangan, พ.ศ.2563.

หนังสือพิมพ์ Kompas ฉบับรายวัน, 16 เมษายน พ.ศ.2563, “Upaya-upaya TNI dalam Penanganan Pandemi COVID-19.”

หนังสือพิมพ์ Kompas ฉบับรายวัน, 20 ธันวาคม พ.ศ.2563, “Kebijakan Pemerintah Menangani Covid-19 Sepanjang Semester II 2020.”

หนังสือพิมพ์ Kompas ฉบับรายวัน, 5 สิงหาคม พ.ศ.2564, “Up 348 percent in July, Covid-19 Patient Deaths Expected to Decrease in August."

หนังสือพิมพ์ Kompas ฉบับรายวัน, 19 เมษายน พ.ศ.2565, "Need for a New World Order."

https://laporcovid19.org/tentang-kami

Liputan6.com, 19 พฤษภาคม พ.ศ.2565, “Perbandingan Harga Tes PCR, Antigen hingga Masker Dulu dan Sekarang, Bak Bumi dan Langit.”

Sindonews.com, 5 สิงหาคม พ.ศ.2564, “21 Juta Penduduk Indonesia Sudah Divaksin Covid-19 Secara Lengkap.”

หนังสือพิมพ์ Tempo ฉบับรายวัน, 16 กรกฎาคม พ.ศ.2564, “Batalkan Vaksinasi Berbayar, Jokowi Pastikan Seluruh Vaksin Covid-19 Gratis.”

หนังสือพิมพ์ Tempo ฉบับรายวัน, 28 กรกฎาคม พ.ศ.2564, “Breaking News: Korupsi Bansos Covid, Juliari Batubara Dituntut 11 Tahun Penjara.”

Tirto, 6 กรกฎาคม พ.ศ.2564, "Kasus Meninggal Melonjak & RS Kolaps, Negara Gagal Tangani COVID?" https://tirto.id/ght5

สหรัฐอเมริกา, กระทรวงการต่างประเทศ, Indonesia 2021 Human Rights Report.

 

[1] ดูเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่ หนังสือพิมพ์ Kompas ฉบับรายวัน, “Upaya-upaya TNI dalam Penanganan Pandemi COVID-19,” 16 เมษายน พ.ศ.2563.

[2] ดูเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่ หนังสือพิมพ์ Tempo ฉบับรายวัน, “Breaking News: Korupsi Bansos Covid, Juliari Batubara Dituntut 11 Tahun Penjara,” 28 กรกฎาคม พ.ศ.2564.

[3] ดูเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่ Liputan6.com, “Perbandingan Harga Tes PCR, Antigen hingga Masker Dulu dan Sekarang, Bak Bumi dan Langit,” 19 พฤษภาคม พ.ศ.2565.

[4] ดูเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่ BBC News Indonesia, “Juliari Batubara divonis 12 tahun penjara,” 23 สิงหาคม พ.ศ.2564.

Illustrators: Zheng Ting-Zhi

Illustrators: Zheng Ting-Zhi