:::

การต่อต้านการถูกลืม : พิพิธภัณฑ์อินโดนีเซียและการเคลื่อนไหวทางการเมือง

ภาพที่ 1: ซูชิวาติ (Suciwati) ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์สิทธิมนุษยชนมูนีร์ (ภรรยาของมูนีร์)

ภาพที่ 1: ซูชิวาติ (Suciwati) ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์สิทธิมนุษยชนมูนีร์ (ภรรยาของมูนีร์)

ภาพที่ 2: ภายในของพิพิธภัณฑ์แบบเดิม

ภาพที่ 2: ภายในของพิพิธภัณฑ์แบบเดิม

ผู้เขียน-แอนดี้ อาคาเดียน

แอนดี้ อาคาเดียน เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์สาขาวิชาสังคมศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอินโดนีเซียแห่งชาติและเป็นผู้ดูแลมูลนิธิบ้านแห่งมูนีร์

เกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์สิทธิมนุษยชนมูนีร์

พิพิธภัณฑ์สิทธิมนุษยชนมูนีร์ริเริ่มก่อตั้งโดยมูลนิธิสิทธิมนุษยชนบ้านแห่งมูนีร์ ในปี 2013 เมืองบาตู มณฑลชวาตะวันออก ที่นี่เป็นสถานที่ที่ทนายมูนีร์เกิดและเติบโต เดิมมีชื่อว่าพิพิธภัณฑ์สิทธิมนุษยชนบ้านแห่งมูนีร์ การก่อตั้งพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนชาวอินโดนีเซีย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ เป็นพลเมืองที่รักสงบ, ให้เกียรติสิทธิมนุษยชน, เปิดกว้างและรักสันติ


บทนำ

เดือนพฤษภาคมในปี 1998 หลังจากที่นโยบายระเบียบใหม่ (New Order) ของรัฐบาลพลเอกซูฮาร์โต (Soeharto) พังทลาย พลเอกซูฮาร์โต (Soeharto) ได้สละบัลลังก์หลังจากที่กุมอำนาจมา 30 กว่าปี โดยมีรองประธานาธิบดีเบ. เจ. ฮาบีบี (B. J. Habibie) รับตำแหน่งประธานาธิบดีต่อไป เขามีความมุ่นมั่นที่จะนำพาอินโดนีเซียสู่ความเป็นประชาธิปไตย สิ่งที่ตามมากับการพังทลายของนโยบายระเบียบใหม่คือมีพรรคการเมืองใหม่จำนวนมากถูกจัดตั้งขึ้นในอินโดนีเซีย ระบอบพรรคการเมืองหลายพรรคแห่งยุคใหม่นี้กลายเป็นพื้นฐานของการมุ่งไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยของอินโดนีเซียในวันนี้ อย่างไรก็ตาม รากเหง้าของรัฐบาลชุดเก่ายังไม่หมดสิ้นไป ยังมีบางส่วนที่หยั่งรากฝักลึกหลงเหลืออยู่ในระบอบการเมืองร่วมสมัยของอินโดนีเซีย

หนึ่งในนั้นคือ แนวความคิดเชิงประวัติศาสตร์อินโดนีเซียปัจจุบันที่เน้นย้ำบทบาทของทหาร โดยเฉพาะทหารบก ในปี 1965 ทหารบกเป็นกำลังสำคัญในการช่วยให้อินโดนีเซียหลุดพ้นจากการคุกคามของพรรคคอมมิวนิสต์ กองทหารสามารถควบคุมอำนาจทางการเมืองได้อย่างราบรื่นและเต็มที่จนถึงยุคปี 1970 จากนั้น วาทกรรมเชิงประวัติศาสตร์ทำนองนี้ก็แผ่ขยายไปกว้างขวางกว่าเดิม วาทกรรมนี้ไม่เพียงแต่บอกเล่าความสำเร็จของทหารในการปราบปรามพรรคคอมมิวนิสต์ ทั้งยังเป็นการเน้นย้ำว่าทหารเป็นผู้มีบทบาทหลักในการช่วยให้อินโดนีเซียเป็นเอกราชแยกตัวจากฮอลแลนด์

บทบาทของนักต่อต้านอาณานิคมอย่างซูการ์โน (Sukarno), ฮัตตา(Hatta), ชาห์รีร์ (Sjahrir) ลดน้อยลงเรื่อยๆ แทนที่ด้วยบทบาททหารและเรื่องราวความกล้าหาญชาญชัยของทหารในสงครามเพื่อเอกราช แคทเธอรีน แม็คเกรเกอร์ (Katherine McGregor) ระบุอย่างเฉพาะเจาะจงในงานวิจัยวาทกรรมเชิงประวัติศาสตร์อินโดนีเซียยุคศตวรรษที่ 20 ของเธอว่า  วาทกรรมแบบนี้เป็น “ประวัติศาสตร์ในเครื่องแบบ” ทำให้เห็นว่าในยุคระเบียบใหม่ ทางการอินโดนีเซียได้สร้างประวัติศาสตร์ที่มีการส่งเสริมบทบาทของทหาร เราก็เริ่มมีประกายความคิด เริ่มเข้าใจว่านอกจากความเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อความก้าวหน้าและการปลดแอกแล้ว อำนาจทางการเมืองที่ปกครองอยู่สามารถใช้พิพิธภัณฑ์เป็นเครื่องมือสำหรับเผด็จการในการปิดบังปฏิกิริยาความสำนึกเชิงประวัติศาสตร์ที่จอมปลอม ผู้ที่อยู่เบื้องหลังบงการทุกอย่างคือ นูโกรโฮ โนโตซูซันโต (Nugroho Notosusanto) ซึ่งต่อมาได้ตำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในยุตระเบียบใหม่ ภายใต้การบังคับบัญชาของเขา เมืองต่างๆ ในอินโดนีเซียมีพิพิธภัณฑ์และอนุเสาวรีย์ย้ำเตือนให้ประชาชนอย่าลืมคุณูประการและบทบาทสำคัญของทหาร เพื่อสนับสนุนวาทกรรมเชิงประวัติศาสตร์นี้ต่อไป

การเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านการถูกลืม

ภายใต้การเมืองยุคระเบียบใหม่ พิพิธภัณฑ์ไม่ได้เหมือนคำนิยามดั้งเดิมที่เป็นเพียงสถานที่ไว้สำหรับเก็บรักษา “วัตถุที่มีคุณค่าทางศิลปะ, วัฒนธรรม, ประวัติศาสตร์ หรือ วิทยาศาสตร์” (พจนานุกรมภาษาอังกฤษฉบับออกซฟอร์ด) แต่กลับกลายเป็นเครื่องมือของอำนาจ ทำให้บทบาทในประวัติศาสตร์ของอำนาจทางการเมืองมีความชอบธรรมขึ้นมา ในปี 1998 หลังเกิดการปฏิรูปไม่นาน เริ่มมีคนพยายามแก้ไขวาทกรรมแบบนี้ ช่วงต้นปี 2000 วาทกรรมที่ริเริ่มโดยนักประวัติศาสตร์อิสระที่ศึกษาเอกราชอินโดนีเซียกลายเป็นจุดสนใจในการถกเถียงกัน อาสวี วาร์แมน อดัม (Asvi Warman Adam) เป็นหนึ่งในกำลังสำคัญเรียกร้องให้  “แก้ไขประวัติศาสตร์ให้ถูกต้อง” (Adam, 2004) เพื่อทำให้บทบาทของทหารมีความเด่นชัดมากขึ้น สมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์และผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จำนวนหลายแสนคนถูกฆ่าตาย วาทกรรมนี้ถูกวางเทียบกับวาทกรรมของทางการกับเหตุการณ์ในปี 1965 อย่างไรก็ตาม กระแสระลอกใหม่นี้ยังอยู่ในกรอบการถกเถียงกันทางวิชาการและถูกส่งต่อในแวดวงที่จำกัด วาทกรรมฉบับทางการของยุคระเบียบใหม่ยังคงเป็นกระแสหลัก มีเนื้อหาแบบเรียนประวัติศาสตร์ชั้นประถมและมัธยม พร้อมภาพยนตร์ให้การสนับสนุน ทั้งยังมีพิพิธภัณฑ์และอนุเสาวรีย์ยุคระเบียบใหม่คงอยู่ไว้จนถึงทุกวันนี้

นอกจากนี้ ยังมีนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนและผู้สนับสนุนประชาธิปไตยท้าทายวาทกรรมดังกล่าว พวกเขาพยายามรักษาความทรงจำของมวลชน อย่าลืมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 1988 ซึ่งเป็นช่วงที่อินโดนีเซียเผชิญหน้ากับวิกฤตเศรษฐกิจและการเมือง วันที่ 10 เดือนธันวาคม ปี 2014 มีนักเคลื่อนไหวทางสังคมและนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยตรีสักติ (Trisakti University) ได้ร่วมจัดพิธีเปิดอนุเสาวรีย์เหตุการณ์ 12 พฤษภาคม 1998 พร้อมกิจกรรมรำลึกสิทธิมนุษยชนโลก อนุเสาวรีย์นี้ทำโดยเซรามิกสีดำสูง 3 เมตร เพื่อรำลึกนักเรียนจำนวน 4 คนที่ถูกหน่วยรักษาความปลอดภัยยิงตายในช่วงเกิดการประท้วง

ในขณะเดียวกัน คณะกรรมการความรุนแรงและละเมิดสตรีแห่งชาติ  (Komnas Perempuan) ได้เขียนข้อความบนอนุสาวรีย์เกี่ยวกับเหตุการณ์พฤษภาคม 1998 จาลึกผู้หญิงเชื้อสายจีนที่ถูกทำร้ายและข่มขืน อาสาสมัครได้แจ้งเรื่องการถูกข่มขืนของผู้หญิงเชื้อสายจีนให้กับสื่อมวลชนทราบ ในช่วงแรกๆ ของการปฏิรูปเกิดการถกเถียงประเด็นนี้ขึ้นมา รัฐบาลได้จัดตั้งคณะทำงานสอบสวนข้อเท็จจริง (TPGF) เพื่อตรวจสอบรวบรวมพยานหลักฐานเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว อย่างไรก็ตาม คณะทำงานนี้มิได้ค้นพบ “หลักฐาน” ที่จะสนับสนุนเหตุการณ์ข่มขืนหมู่นี้ได้ รัฐบาลได้ปฏิเสธเรื่องดังกล่าวอย่างเป็นทางการ เพื่อเป็นการโต้ตอบคำปฏิเสธของรัฐบาล อิตา มาร์ตาดินาตา (Ita Martadinata) อาสาสมัครพลเมืองเชื้อสายจีนวัยสาวและผู้เสียหายจากเหตุการณ์ดังกล่าวได้วางแผนจะไปเป็นพยานในรัฐสภาสหรัฐอเมริกา แต่ทว่ามีคนพบว่าเธอถูกฆ่าตายก่อนที่เธอจะได้เดินทางไปสหรัฐอเมริกา เรื่องการผู้หญิงเชื้อสายจีนถูกข่มขืนหมู่นี้จึงเลือนหายไปในความทรงจำของผู้คน ข้อความบนอนุสาวรีย์เกี่ยวกับเหตุการณ์พฤษภาคม 1998 ก็คือสีกขีพยาน เพื่อย้ำเตือนให้มวลชนอย่าลืมเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์นี้ 

ในขณะเดียวกัน จังหวัดอาเจะห์ (Aceh) ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกที่สุดของประเทศอินโดนีเซียเมื่อปี2011มี  องค์กรพัฒนาเอกชน (Non-Governmental Organizations) หลายแห่งก่อตั้งพิพิธภัณฑ์สิทธิมนุษยชนอาเจะห์อย่างขึงขัง พิพิธภัณฑ์นี้มีขนาดเล็กกระทัดรัด องค์กรเหล่านี้ได้วางกระดานในสวนของสำนักงานชุมชนติการ์ แพนดัน (Tikar Pandan Community) โดยมีข้อความระบุถึงโศกนาฏกรรม KKA Simpang (Simpang KKA) ที่มีการกราดยิงใส่ผู้คนที่กำลังประท้วง ผู้สูญหายในขณะเกิดความไม่สงบและบ้านรูเมาะกอด๊อง (rumoh geudong) ที่ถูกสันนิษฐานว่าเป็นสถานที่ที่ทหารได้ทำทารุณกรรมผู้ช่วยเหลือนักเคลื่อนไหวเพื่อเสรีภาพอาเจะห์ แม้ที่นี่จะเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เรียบง่าย แต่ทว่ามีพันธกิจที่ยิ่งใหญ่ ดั่งคำแถลงว่า

Aceh bek le lagee njan!เราเชื่อว่าประกายแสงสว่างสามารถทำสัญลักษณ์ในความมืดมิดได้เสมอ ฉะนั้น เราจึงได้สร้างสถานที่หลบภัยแห่งความทรงจำ เช่นนี้ พวกเราชาวอาเจะห์ ไม่ว่าจะเป็นชายหญิง ผู้เป็น ผู้ตาย ผู้ถูกข่มขืน ผู้ถูกเข่นฆ่า ผู้ถูกทำร้าย ผู้ถูกอุ้มหายนั้น ต่างสามารถเรียกร้องโดยไม่ต้องถูกความตายจำกัด: เรื่องเช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นซ้ำรอย Aceh bek le lagee njan! อาเจะห์จะไม่ซ้ำรอย

กล่าวโดยสรุป การปฏิรูปการเมืองของอินโดนีเซียเปิดประตูให้กับนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนและการสนับสนุนประชาธิปไตยอินโดนีเซีย นอกจากฉบับทางการแล้ว การสร้างการวาทกรรมเชิงประวัติศาสตร์ใหม่นั้นพวกเขาได้มีสโลแกน “ต่อต้านการถูกลืม” เพื่อตอบโต้วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดในอินโดนีเซียที่ปล่อยให้ผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนผู้อื่นลอยนวลอยู่จนถึงทุกวันนี้ จากการเคลื่อนไหวต่อต้านการถูกลืมที่ขับเคลื่อนโดยพิพิธภัณฑ์และอนุสาวรีย์จนสุดท้ายกลายเป็นการปฏิบัติการอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ เพื่อต่อต้านการปล่อยปะละเลยของรัฐบาลต่ออาชญากรรมเหล่านี้

บ้านแห่งมูนีร์ (Omah Munir)

อีกจุดหนึ่งที่จะอธิบายว่าพิพิธภัณฑ์กลายเป็นสักขีพยานการเคลื่อนไหวทางสังคมได้อย่างไร ก็คือพิพิธภัณฑ์สิทธิมนุษยชนมูนีร์ที่กำลังก่อสร้างอยู่ ณ เมืองบาตู (Batu City) จังหวัดมาลัง (Malang) มณฑลชวาตะวันออก ฉันขอเล่าย่อๆ ในมุมมองของสมาชิกมูลนิธิบ้านแห่งมูนีร์

ขอเริ่มเล่าตั้งแต่เรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ในอินโดนีเซีย ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับสิ่งที่ มูนีร์ ซาอิด ตาลิบ (Munir Said Talib, 1965-2004) ทนายสิทธิมนุษยชนชาวอินโดนีเซียชื่อดังประสบ ทนายท่านนี้ถูกฆ่าตายระหว่างไปศึกษาต่อที่ฮอลแลนด์วันที่ 7 กันยายน ปี 2004  นอกจากจะเปิดสวิตช์ให้เกิดการปฏิรูปเพื่อความเป็นประชาธิปไตยในอินโดนีเซียแล้ว การตายของมูนีร์ยังเป็นสัญญาณเตือนภัยที่สำคัญสำหรับชาวอินโดนีเซียหลายคน เป็นการบอกเขาว่ารากเหง้าอำนาจทางการเมืองรุ่นเก่ายังหลงเหลือฝังลึกอยู่ในชีวิตประจำวันของคนปัจจุบัน ในคดีของมูเนียร์ แม้จะมีการพิพากษานำผู้กระทำผิดในที่เกิดเหตุมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรม แต่ทหารระดับสูงและเจ้าหน้าที่ข่าวกรองคนสำคัญยังลอยนวลพ้นผิดอยู่ ในคดีฆาตกรรมของมูนีร์ เหตุการณ์ลอยนวลพ้นผิดได้เกิดขึ้นซ้ำรอยอีกครั้ง 

ในปี 2013 ฉันเพิ่งจะก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ตำรวจในอินโดนีเซีย ซูชิวาติ (Suciwati) ภรรยาของมูนีร์ได้ติดต่อและบอกฉันว่า เธออยากจะสร้างพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งเพื่อสามีและขั้นตอนการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนอินโดนีเซีย ฉันรู้จักคุ้นเคยกับมูนีร์ดีเลยทีเดียว เขาเป็นเพื่อนร่วมงานเก่าของฉัน ช่วงที่ฉันทำงานอยู่องค์กรให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายอินโดนีเซีย มูนีร์เป็นหัวหน้าอยู่นั่นเอง ฉันมองว่าข้อเสนอแนะของซูชิวาติดีมาก เป็นการเน้นย้ำความสำคัญของพิพิธภัณฑ์ในการ “มีส่วนร่วมในการต่อสู้” เหมือนกับยุคปี 1980 ช่วงการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิประชาชนสหรัฐอเมริกาก็มีการสถาปนาพิพิธภัณฑ์อเมริกันอินเดียนแห่งชาติ (National Museum of the American Indian)(Kyle Message, ปี 2013 ) 

ปัญหาคืองบของโครงการดังกล่าวจะได้มาจากที่ไหน? การสร้างพิพิธภัณฑ์ต้องใช้เงินมหาศาล ต้องมีสถาปนิก, วิศวกรรมโยธาและนักประวัติศาสตร์เป็นส่วนร่วม นี่เป็นความท้าทายที่ยากลำบาก ซูชิวาติได้แก้ไขปัญหาแรกโดยการบริจาคที่อยู่ของตนเองกับทนายมูนีร์ผู้ล่วงลับไปแล้ว ณ เมืองบาตู มณฑลชวาตะวันออก เพื่อใช้เป็นสถานที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ ที่นี่เป็นบ้านพักอาศัยขนาดไม่ถึง 400 ตารางเมตร มีสวนหย่อมและตัวอาคาร แม้ที่จะเล็ก แต่บ้านหลังนี้มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์เป็นอย่างมาก และเป็นพื้นฐานที่ดีในการผลักดันโครงการนี้

ในปี 2013 ซูชิวาติได้รับการสนับสนุนมากขึ้น ความคิดที่จะจัดตั้งพิพิธภัณฑ์เพื่อบอกเล่าชีวประวัติของทนายมูนีร์กับ ประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนอินโดนีเชียได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี นักเคลื่อนไหวทางสังคมรุ่นใหม่ ศิลปินและผู้มีชื่อเสียงในวงการสื่อต่างให้การตอบรับ รวมทั้งนักการเมืองและเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่เห็นใจมูนีร์ เช่น ลุคแมน ฮาคิม ไซฟุดดิน (Lukman Hakim Syaifuddin ) ซึ่งต่อมาได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศาสนาและ ดะห์ลัน อิสกัน (Dahlan Iskan) ผู้จัดการครือข่ายสื่อ  ซึ่งต่อมาได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงรัฐวิสาหกิจ การพัฒนาของพิพิธภัณฑ์นี้สุดท้ายได้ขยายเครือข่ายการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยอินโดนีเซีย

ระหว่างการสร้างพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก็ได้เปิดเส้นทางใหม่แห่งการผลักดันสิทธิมนุษยชนอินโดนีเซีย ผู้คนที่เคยคิดว่าเรื่องสิทธิมนุษยชนและความเป็นประชาธิปไตยเป็นเรื่องห่างไกลจู่ๆ รู้สึกขึ้นมาว่าตนสามารถมีส่วนร่วมในโครงการนี้ โดยการอุทิศเวลา พละกำลังและเงินทุนของตน สิ่งนี้ได้สะท้อนความคิดของ ซิดนีย์ แทร์​โรว์ (Sidney Tarrow) นักสังคมศาสตร์ (ปี 2011) ว่าพฤติกรรมการกระทำรวมหมู่ของผู้คนที่เป็นแบบแผน ประชาคมพลเมืองใช้การกระทำร่วมกันเพื่อหลอมรวมอดีตที่กระจัดกระจายเข้าด้วยกัน เมื่อถึงสิ้นปีดังกล่าว พิพิธภัณฑ์นี้สร้างเสร็จสิ้นและเปิดให้ผู้คนสามารถเข้าเยี่ยมชมได้ในวันที่ 8 เดือนธันวาคม ปี 2013 ในนามบ้านแห่งมูนีร์ (Omah Munir)  เดิมเป็นเพียงแค่ความฝัน แต่ตอนนี้ความฝันกลายเป็นความจริง จากนั้นเพื่อการบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ดังกล่าว จึงได้ก่อตั้งมูลนิธิบ้านแห่งมูนีร์ โดยมีผู้ริเริ่มพิพิธภัณฑ์เป็นกรรมการ

โครงการบ้านแห่งมูนีร์นี้ได้ท้าทายวาทกรรมเชิงประวัติศาสตร์แนวอนุรักษ์นิยมของทางการที่แพร่หลายมาหลาย 10 ปี พิพิธภัณฑ์นี้ได้มอบประสบการณ์ที่แตกต่างกับวาทกรรมเชิงประวัติศาสตร์รูปแบบดั้งเดิม เมื่อผู้ชมเข้าสู่พิพิธภัณฑ์นี้ สิ่งที่พวกเขาจะได้เห็นคือรูปปั้นครึ่งตัวของทนายมูนีร์ นี่คือของขวัญจากนักประติมากรรมท่านหนึ่งในขณะที่สร้างพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ผู้ชมจะเห็นการบอกเล่าเชิงประวัติศาสตร์ตามลำดับเวลา เรื่องราวประวัติศาสตร์เหล่านี้แสดงให้เห็นว่าหลังจากเกิดยุคระเบียบใหม่ การเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนอินโดนีเซียก็ก่อตัวขึ้นจากการต่อตั้งของYPHAM (มูลนิธิห่วงใยสิทธิมนุษยชน) และYLBHI(มูลนิธิให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายอินโดนีเซีย) YPHAM เป็นองค์กรที่ปกป้องนักการเมืองที่สนับสนุนลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างกระตือรือร้นและผลักดันให้เกิดความยุติธรรม ข้อเท็จจริงนี้ท้าทายวาทกรรมทางการที่บอกว่าทหารได้ปราบปรามพรรคคอมมิวนิสต์ได้สำเร็จ

พิพิธภัณฑ์นี้ยังได้จัดแสดงเรื่องราวของมาร์ซินาห์ (Marsinah) แรงงานหญิงที่เสียชีวิตในขณะที่ถูกฝ่ายทหารสอบสวนจากการเป็นแกนนำประท้วงนัดหยุดงาน บ้านแห่งมูนีร์จัดแสดงเรื่องราวของมาร์ซินาห์และเตือนให้ผู้ชมทราบว่าความสำเร็จของอินโดนีเซียแลกมาด้วยหยาดเหงื่อและเลือดเนื้อของแรงงาน เรื่องอื่นๆ ชี้ชัดเหตุการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงในอินโดนีเซีย เช่น การถูกอุ้มหายและการฆ่าล้างทางการเมืองในจังหวัดปาปัวและประเทศติมอร์-เลสเต (ตอนนี้เป็นประเทศเอกราช) และแน่นอนว่าในพิพิธภัณฑ์ยังได้รวบรวมอัตชีวประวัติของทนายมูนีร์, ประสบการณ์ชีวิตของเขาในฐานะผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชนและการที่เขาถูกลอบสังหาร

ตั้งแต่วันที่ 8 เดือนกุมภาพันธ์ปี 2013 พิพิธภัณฑ์นี้เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ จนกระทั่งวันนี้ พิพิธภัณฑ์นี้ได้ต้อนรับผู้ชมจากหลากภูมิหลังและหลายช่วงอายุ อย่างไรก็ตาม นักศึกษาและนักเรียนวัยหนุ่มสาวยังคงเป็นผู้ชมหลัก พวกเขาคิดว่าการเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ระดับโรงเรียนและชั้นอุดมศึกษา หลังจากนั้น 5 ปี เมื่อฉันย้อนคิด สิ่งที่น่าสนใจคือพิพิธภัณฑ์สามารถเป็นสื่อกลางในการผลักดันกิจกรรมของสถาบันสิทธิมนุษยชนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการปลูกฝังมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากลไว้ในชีวิตประจำวันของชาวอินโดนีเซีย

พิพิธภัณฑ์สิทธิมนุษยชนมูนีร์

อันที่จริงแล้ว การใช้พิพิธภัณฑ์ขนาดเล็กอย่างบ้านแห่งมูนีร์มาแทนที่การวาทกรรมเชิงประวัติศาสตร์แนวอนุรักษ์นิยมมีข้อจำกัดในตัวมันเองอยู่ ในปี 2018 คณะกรรมการบริหารบ้านแห่งมูนีร์ (คณะกรรมการบริหารฯ )เริ่มคำนึงถึงความสำคัญของการสร้างความร่วมมือกับรัฐบาลในด้านอาคาร, โครงสร้างพื้นฐาน, แผนงานและระบบอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อยกระดับและสนับสนุนให้บ้านแห่งมูนีร์กลายเป็นพิพิธภัณฑ์สิทธิมนุษยชนที่ใหญ่ขึ้น การตัดสินใจครั้งนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ได้รับคำมั่นจากรัฐบาลว่าจะมอบเงินทุนในการสร้างพิพิธภัณฑ์หนึ่งแห่งโดยมีรัฐบาลมณฑลชวาตะวันออกเป็นผู้สนับสนุนเงินทุน และรัฐบาลเมืองประตูเป็นผู้สนับสนุนที่ดิน

นอกจากนี้ คณะกรรมการบริหารฯ จะได้อธิบายอย่างละเอียดเกี่ยวกับการร่วมมือกับสมาชิกประชาคมพลเมืองอื่น แบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก หนึ่ง การร่วมมือกับสมาคมสถาปนิกอินโดนีเซีย(Indonesian Architects Association: AAI) ในการจัดกิจกรรมแข่งขันการออกแบบพิพิธภัณฑ์ เพื่อให้ประชาชนรับรู้ถึงความสำคัญของพิพิธภัณฑ์สิทธิมนุษยชน ซึ่งงานออกแบบที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของสถาปนิก อัคมัด เดนิ ทาร์ดิยานา (Achmad Deni Tardiyana หรือ Apep) เป็นที่โดดเด่นขึ้นมา งานชิ้นนี้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเปิดกว้าง สอง มูลนิธิบ้านแห่งมูนีร์ยังร่วมมือกับสถาบันศิลปะแห่งจาการ์ตา (Jakarta Arts Institute) จัดการแข่งขันการสร้างสรรค์งานศิลป์ที่จะจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ และ สาม บ้านแห่งมูนีร์ยังจัดเสวนาโดยมีนักสิ่งแวดล้อม, นักข่าว, คนพื้นเมือง, บุคคลทุพพลภาพและนักสิทธิสตรีร่วมถกเถียงวาทกรรมและหัวข้อที่เป็นไปได้ของพิพิธภัณฑ์ ประเด็นสำคัญของเสวนาครั้งนี้นำมาซึ่งประเด็นสำคัญในการพัฒนาการจัดแสดงงานพิพิธภัณฑ์

ชั้นหนึ่งของอาคารออกแบบเพื่อเด็กๆ โดยเฉพาะ ทั้งเพื่อทำให้เด็กๆ ตระหนักถึงการใช้ชีวิตกับส่วนร่วมซึ่งเป็นค่านิยมสำคัญ เช่น ความเปิดกว้างยอมรับ เสรีภาพและความเท่าเทียมกัน ชั้นสองของอาคารจัดแสดงประวัติศาสตร์สิทธิมนุษยชนอินโดนีเซียที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเหตุการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง, ประเด็นสิ่งแวดล้อม, ชนพื้นเมือง, สิทธิสตรีและเสรีภาพสื่อ ฯลฯ ซึ่งนำเสนอโดยกลุ่มพลเมืองสังคมอินโดนีเซีย ชั้นสุดท้ายจัดแสดงอัตชีวประวัติของทนายมูนีร์และงานที่เขาได้ผลักดัน เช่น คนที่ถูกอุ้มหายจะจัดแสดงอยู่ห้องสุดท้ายของชั้นสาม เพื่อให้ผู้ชมทบทวนประเด็นปัญหาสิทธิมนุษยชนอินโดนีเซีย 

สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือการร่วมมือกับรัฐบาลได้นำมาซึ่งปัญหาความเป็นอิสระในการจัดงานแสดง โดยเฉพาะประเด็นสิทธิมนุษยชน ในอนาคตพิพิธภัณฑ์สิทธิมนุษยชนจะเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงอย่างเที่ยงธรรมและเห็นแก่ส่วนรวมได้หรือไม่?  

แต่ในระหว่างนี้ แน่นอนว่าจะต้องมีการปรับเปลี่ยนบางส่วน ก่อนอื่นมีการแก้ไขชื่อของพิพิธภัณฑ์ให้เป็น “พิพิธภัณฑ์สิทธิมนุษยชนมูนีร์” แต่นี่ไม่ได้หมายความว่าพิพิธภัณฑ์จะยอมรับมุมมองของทางการ พิพิธภัณฑ์ไม่เพียงจะจัดแสดงอัตชีวประวัติของผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างเดียว แต่พิพิธภัณฑ์หวังว่าจะสามารถเปิดรับปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนอินโดนีเซียที่กว้างขึ้น ในส่วนของความเป็นอิสระในการจัดงานแสดง ความโชคดีคือขณะนี้บรรยากาศของรัฐบาลอินโดนีเซียยังคงเปิดกว้างสำหรับความเป็นอิสระในการจัดงานแสดง

ในอนาคต อาจจะเกิดสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้รู้ชัดว่าพิพิธภัณฑ์และสถานโบราณเชิงประวัติศาสตร์ได้กลายเป็นสถานที่เคลื่อนไหวทางสังคมที่สำคัญสำหรับนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนและการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในยุคปฏิรูป เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าวิธีนี้จะเป็นวิธีที่ได้ผลในการปลูกฝังค่านิยมความสำคัญของสิทธิมนุษยชนในคนรุ่นใหม่ชาวอินโดนีเซียประสบความสำเร็จหรือไม่

 

ภาพที่ 3 พิธีลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างคณะกรรมการบริหารมูลนิธิบ้านแห่งมูนีร์และรัฐบาลเมืองประตูมณฑลชวาตะวันออก

ภาพที่ 3 พิธีลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างคณะกรรมการบริหารมูลนิธิบ้านแห่งมูนีร์และรัฐบาลเมืองประตูมณฑลชวาตะวันออก

การต่อต้านการถูกลืม : พิพิธภัณฑ์อินโดนีเซียและการเคลื่อนไหวทางการเมือง

การต่อต้านการถูกลืม : พิพิธภัณฑ์อินโดนีเซียและการเคลื่อนไหวทางการเมือง

ข้อมูลอ้างอิง

Adam, Asvi Warman (2004).Pelurusan Sejarah Indonesia.Yogyakarta, Penerbit Ombak.

McGregor, Katherine (2007).History in Uniform: Military Ideology and the Construction of Indonesia’s Past.ASSA Southeast Asian Publication Series.USA, University of Hawaii Press.

Message, Kyle (2014).Museum and Social Activism.Engaged Protest.Oxon, UK.Routledge.

Tarrow, Sidney G (2011).Power in Movement.Social Movements and Contentious Politics.New York, Cambridge University Press.