:::

การมีส่วนร่วมในปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศของพิพิธภัณฑ์: กรณีศึกษานิทรรศการพิเศษเรื่อง &ปฏิบัติการสภาพภูมิอากาศ—ยุคที่โลกกำลังเดือด& ของพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาแห่งชาติไต้หวัน

แนะนำผู้เขียน: เย่เจิ้นหยวน


สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจาก สถาบันวิจัยวิทยาการคอมพิวเตอร์สารสนเทศและวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเจียวทง ปัจจุบันดำรงตำแหน่งนักวิจัยรองและหัวหน้าฝ่ายห้องสมุดและสารสนเทศในแผนกบริหารจัดการและการจัดเก็บข้อมูลของพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาแห่งชาติไต้หวัน

 

แนะนำหน่วยงาน: พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาแห่งชาติไต้หวัน
 

ตั้งอยู่ใจกลางเมืองไถจง เป็นพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งแรกที่จัดตั้งโดยรัฐบาล และเป็นพิพิธภัณฑ์แรกที่นำวิทยาศาสตร์ธรรมชาติมาเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวัน! นิทรรศการที่จัดแสดงเป็นประจำมีความหลากหลาย พื้นที่จัดแสดงหลักได้แก่: โรงละครอวกาศ โรงละครสามมิติ ศูนย์วิทยาศาสตร์ โถงวิทยาศาสตร์ชีวภาพ โถงสิ่งแวดล้อมในโลก โถงวัฒนธรรมมนุษยชาติ สวนพฤกษศาสตร์ เป็นต้น เนื้อหาจัดแสดงอัดแน่นและเต็มเปี่ยมไปด้วยความรู้มากมาย พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีผู้เข้าชมเฉลี่ยราว 3 ล้านคนต่อปี ทำให้เป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติที่ได้รับความนิยมมากที่สุด


การมีส่วนร่วมในปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศของพิพิธภัณฑ์: กรณีศึกษานิทรรศการพิเศษเรื่อง "ปฏิบัติการสภาพภูมิอากาศ—ยุคที่โลกกำลังเดือด" ของพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาแห่งชาติไต้หวัน

คำนำ

ปี ค.ศ. 2023 เป็นปีที่จัดว่าร้อนที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกไว้ จนกระทั่งถึงช่วงเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2024 อุณหภูมิเฉลี่ยของพื้นผิวโลกสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานถึง 13 เดือน โดยใน 12 เดือนนั้นสูงกว่าช่วงก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมถึง 1.5 องศาเซลเซียส ในวันที่ 22 กรกฎาคม ค.ศ. 2024 อุณหภูมิเฉลี่ยรายวันพุ่งสูงขึ้นถึง 17.16 องศาเซลเซียส ซึ่งได้ทำลายสถิติอีกครั้ง ข้อมูลเหล่านี้ไม่ใช่เพียงตัวเลขที่รู้แล้วจะใจเย็นอยู่ได้ แต่หากเป็นสัญญาณเตือนว่ามนุษยชาติกำลังเผชิญกับความท้าทายที่รุนแรงขึ้นในอนาคต

นับตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรม มนุษย์ได้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณมหาศาล ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาพอากาศสุดขั้ว เช่น อุณหภูมิสูงจัด คลื่นความร้อน ภัยแล้ง และฝนตกหนัก ได้กลายเป็น "ความปกติใหม่"ไปเสียแล้ว การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังเปลี่ยนแปลงโลกของเราอย่างรวดเร็วและทวีความรุนแรงขึ้น ส่งผลกระทบต่อสังคมมนุษย์ ระบบนิเวศ และสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติอย่างไม่อาจย้อนกลับได้

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นประเด็นที่ซับซ้อนเกินขอบเขตที่อาจกำหนดได้ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการดำรงอยู่และการพัฒนาที่ยั่งยืนของมนุษยชาติ ถือเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่สุดในยุคปัจจุบัน พิพิธภัณฑ์ในฐานะตัวกลางสำคัญทางวัฒนธรรมและการศึกษา มีศักยภาพในการนำสังคมสู่การเปลี่ยนแปลงผ่านการจัดนิทรรศการ กิจกรรมทางการศึกษา และการมีส่วนร่วมของสาธารณชนเป็นต้น พิพิธภัณฑ์สามารถนำเสนอประเด็นที่ซับซ้อนเช่นเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ออกมาในรูปแบบที่ชัดเจนขึ้น เข้าใจง่ายขึ้น รวมถึงทำให้ผู้ชมมีส่วนร่วมด้วย เพื่อช่วยเสริมสร้างความตระหนักรู้ การกระตุ้นความรู้สึกร่วม และการขบคิดอย่างมีเหตุและผล พร้อมทั้งกระตุ้นให้เกิดการพูดคุยและลงมือทำจริง

พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์มุ่งมั่นที่จะปฏิบัติภารกิจและการดำเนินการที่ยั่งยืน

พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด ทางพิพิธภัณฑ์ได้จัดนิทรรศการพิเศษและกิจกรรมการศึกษาเพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) อีกทั้งยังได้รวมแนวคิด "มุ่งมั่นสู่ความยั่งยืน" ไว้ในพันธกิจของพิพิธภัณฑ์ด้วย เพื่อตอบรับคำนิยามใหม่ของพิพิธภัณฑ์ที่ได้รับการอนุมัติในการประชุม ICOM ที่กรุงปรากในปี ค.ศ. 2022 พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ในฐานะหนึ่งในพิพิธภัณฑ์ที่ทรงอิทธิพลที่สุดของไต้หวัน ได้ตั้งเป้าหมายที่จะใช้บทบาทของตนในการส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในสังคม

ในปี ค.ศ. 2024 พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ได้เปิดตัวนิทรรศการพิเศษไตรภาคประจำปี ภายใต้ธีม "ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และการอนุรักษ์ระบบนิเวศ" นิทรรศการแรกคือ “วัสดุ? ไม่ใช่วัสดุ? เรื่องราวของไม้ ” ในหัวข้อนี้จะนำเสนอการสำรวจลักษณะและความหลากหลายของไม้ รวมถึงบทบาทสำคัญของมันในสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ พร้อมรณรงค์ให้มีการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ นิทรรศการที่2ในหัวข้อ “สู่บอร์เนียว: ระยะห่างระหว่างเรากับเกาะบอร์เนียว” จะมุ่งเน้นให้เห็นถึงความท้าทายและผลกระทบที่เกาะบอร์เนียวต้องเผชิญ พร้อมสำรวจการอยู่ร่วมกันของกลุ่มชนที่หลากหลายกับสภาพแวดล้อมธรรมชาตินี้ ปิดท้ายด้วย “ปฏิบัติการสภาพภูมิอากาศ—ยุคโลกเดือด” ซึ่งได้ใช้เทคโนโลยีเชิงปฏิสัมพันธ์และสื่อดิจิตอลในการเปิดเผยผลกระทบจากภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ พร้อมกระตุ้นให้ผู้ชมได้ไตร่ตรองย้อนคิดและลงมือทำจริง

นิทรรศการเหล่านี้นำเสนอความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ระบบนิเวศ และสิ่งแวดล้อมจากมุมมองที่ต่างกัน

พร้อมกระตุ้นความสนใจและการมีส่วนร่วมของสาธารณชนในการพัฒนาอย่างยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมและสังคม แสดงให้เห็นถึงบทบาทที่สำคัญของพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ในการเป็นผู้นำด้านการรณรงค์ทางสังคม

ภาพโปรโมตหลักนิทรรศการพิเศษ “ปฏิบัติการสภาพภูมิอากาศ—ยุคโลกเดือด”

ภาพโปรโมตหลักนิทรรศการพิเศษ “ปฏิบัติการสภาพภูมิอากาศ—ยุคโลกเดือด”

ภาพคอนเซปต์ทางเข้านิทรรศการพิเศษ

ภาพคอนเซปต์ทางเข้านิทรรศการพิเศษ

นิทรรศการพิเศษ "ปฏิบัติการสภาพภูมิอากาศ—ยุคโลกเดือด": การนำเสนอประเด็นสภาพภูมิอากาศด้วยรูปแบบเชิงปฏิสัมพันธ์และประสบการณ์ที่กระตุ้นประสาทสัมผัสเพื่อสร้างจิตสำนึกให้ลงมือทำจริง

นิทรรศการ "ปฏิบัติการสภาพภูมิอากาศ" ผสมผสานการแสดงมัลติมีเดียที่กระตุ้นประสาทสัมผัสต่าง ๆ  ด้วยการจัดแสดงที่สมจริง และนวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทำงานร่วมกัน พร้อมการจัดฉากตามเรื่องราวจริง วัตถุจัดแสดงของจริง และตัวอย่างสิ่งมีชีวิต เพื่อให้ผู้ชมได้สัมผัสประสบการณ์และมีส่วนร่วมของโลกเสมือนและโลกจริง แนวคิดของการจัดนิทรรศการนี้เน้นการสำรวจประเด็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจากหลากหลายมุมมอง เนื้อหาครอบคลุมทั้งข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ ผลกระทบทุกด้านที่มีต่อคนทุกรุ่น มาตรการในการปรับปรุงและปรับตัว และความหวังในอนาคต เนื้อหาในนิทรรศการได้เน้นย้ำว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศคือภัยคุกคามที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ไม่ใช่ในอนาคต นิทรรศการได้ใช้เทคนิคเชื่อมโยงอารมณ์ความรู้สึกของผู้ชมกระตุ้นให้ผู้ชมอยากมีส่วนร่วมและลงมือทำ เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคต

บริเวณทางเข้านิทรรศการจัดแสดงภายใต้ธีม "ทางเลือกของอนาคตที่ไม่แน่นอน" ซึ่งจะทำการเปรียบเทียบระหว่างผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์ที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนในยุคอุตสาหกรรมกับอนาคตที่ไม่แน่นอนที่เน้นไปที่การแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศ สื่อถึงทางเลือกที่มนุษย์ต้องเผชิญในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ พื้นที่นิทรรศการแบ่งออกเป็น 6 โซนหลัก ได้แก่ "บทนำ" "รู้จักการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ" "วิกฤตระบบนิเวศ" "วิกฤตสภาพภูมิอากาศ" "พลิกผันโลกของเรา" และ "ร่วมสร้างโลกซีโร่คาร์บอน" โดยแต่ละโซนใช้เทคนิคการจัดแสดงและรูปแบบการปฏิสัมพันธ์ที่แตกต่างกัน เพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมและความเข้าใจของผู้เข้าชม บริเวณทางออกของนิทรรศการยังมีผลงานวิดีโอสามช่องเฟรมของศิลปินหลินเจียเจิน ชื่อ "ภูมิทัศน์ที่พังทลาย : ไม่มีพื้นผิวใดที่เหมือนกัน" ซึ่งเล่นกับประสาทสัมผัสทางการมองเห็นและการได้ยิน เพื่อกระตุ้นให้ผู้ชมจินตนาการถึงสภาวะของมนุษย์ในสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน

จุดเด่นในการออกแบบนิทรรศการแต่ละโซน:

"บทนำ" : โซนนี้ออกแบบโดยใช้ฉากขนาดใหญ่แสดงถึงเขตอาร์กติกและจอภาพโค้งขนาดใหญ่ที่ผสานระหว่างโลกเสมือนและโลกจริงด้วยการฉายภาพแบบสมจริง ผู้ชมจะรู้สึกเหมือนกำลังอยู่บนเรือตัดน้ำแข็ง ท่ามกลางทิวทัศน์งดงามของแสงเหนือและฝูงปลาวาฬ ต่อจากนั้นจะมีการฉายภาพแสงสามมิติโดยใช้เทคนิค 3D Projection Mapping ที่แสดงภาพฝนตกในขั้วโลกและธารน้ำแข็งพังทลาย การเปลี่ยนแปลงที่ฉับพลันนี้ออกแบบมาเพื่อกระตุ้นให้ผู้คนตระหนักและเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

"รู้จักการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ": โซนนี้มีการใช้กำแพงแสงนำเสนอควบคู่กับอุปกรณ์ทดลองดิจิทัล เพื่ออธิบายหลักการทางวิทยาศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและความสำคัญของปรากฏการณ์เรือนกระจกต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตอย่างชัดเจน นอกจากนี้ ยังมีการแสดงมัลติมีเดียผ่านช่องมอง (Peep-hole) ที่นำเสนอความเชื่อมโยงของสภาพอากาศที่รุนแรงขึ้นและเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วซึ่งเกิดบ่อยขึ้นจากภาวะโลกร้อนอย่างครบถ้วน

ฉายภาพ 3D Projection Mapping ที่แสดงการ พังทลายของธารน้ำแข็ง

ฉายภาพ 3D Projection Mapping ที่แสดงการ พังทลายของธารน้ำแข็ง

รู้จักการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ&—กำแพงแสงสัมผัส

รู้จักการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ&—กำแพงแสงสัมผัส

เขตจัดแสดงวิกฤตการสูญพันธุ์ของสัตว์ทะเล

เขตจัดแสดงวิกฤตการสูญพันธุ์ของสัตว์ทะเล

"วิกฤตระบบนิเวศ": โซนนี้ผสมผสานการจัดฉากขนาดใหญ่และการฉายภาพแบบกระจกสะท้อนเคลื่อนไหว เพื่อแสดงให้เห็นถึงความท้าทายที่สัตว์ในเขตขั้วโลกต้องเผชิญ เช่น อุณหภูมิที่สูงขึ้น การลดลงของที่อยู่อาศัย และเงื่อนไขการเปลี่ยนแปลงของอาหาร โดยมีการจัดแสดงแบบ Bare-eye 3D Interactivity ที่ช่วยให้ผู้ชมสัมผัสกับวิกฤตการณ์ที่สัตว์ทะเลต้องเผชิญได้อย่างชัดเจน การจัดแสดงนี้ช่วยให้ผู้ชมเข้าใจถึงผลกระทบที่การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมีต่อระบบนิเวศได้อย่างลึกซึ้ง

"วิกฤตสภาพภูมิอากาศ": โซนนี้จัดแสดงโดยใช้สื่อหลายมิติทั้งภาพและเสียงที่ที่ช่วยให้ผู้ชมได้มีส่วนร่วมและสามารถเข้าใจถึงผลกระทบที่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิอย่างเป็นระบบ และยังมีการวิเคราะห์ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศต่อสังคมโลกและไต้หวันอย่างเป็นรูปธรรม การจัดวางโมเดลพิเศษที่สามารถหยิบวางได้ช่วยให้ผู้ชมมีส่วนร่วมและได้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างกิจกรรมมนุษย์และภาวะโลกร้อนโดยตรง ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจถึงสาเหตุและผลที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ ยังมีโรงละครที่มีการแสดงแบบ 4K Immersive ซึ่งผู้ชมสามารถสัมผัสประสบการณ์ภัยพิบัติจากสภาพอากาศสุดขั้วได้จากมุมมองของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์จริง

โซนโมเดลหยิบวาง

โซนโมเดลหยิบวาง

โรงละครสภาพอากาศสุดโต่ง

โรงละครสภาพอากาศสุดโต่ง

"พลิกผันโลกของเรา": โซนนี้นำเสนอความพยายามของชุมชนระหว่างประเทศและวงการวิทยาศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน โดยใช้ กำแพงแสงปฏิสัมพันธ์เพื่อแสดงแนวทางการลดผลกระทบและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ในเวลาเดียวกันยังมีการใช้ เทคโนโลยี AR แนะนำเส้นทางการเปลี่ยนแปลงไปสู่ซีโร่คาร์บอนของไต้หวันในปี 2050 ยิ่งไปกว่านั้นผู้ชมยังสามารถเล่นเกม "ชีวิตสีเขียวซีโร่คาร์บอน" ซึ่งช่วยให้ผู้ชมได้สัมผัสประสบการณ์เกี่ยวกับการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชีวิตประจำวัน

ประสบการณ์ AR เส้นทางเปลี่ยนสู่ซีโร่คาร์บอนไต้หวัน 2050

ประสบการณ์ AR เส้นทางเปลี่ยนสู่ซีโร่คาร์บอนไต้หวัน 2050

เกมชีวิตสีเขียวซีโร่คาร์บอน

เกมชีวิตสีเขียวซีโร่คาร์บอน

"ร่วมสร้างโลกซีโร่คาร์บอน": โซนนี้มีเป้าหมายในการเปลี่ยนผู้ชมจากผู้ดูเป็นผู้ร่วมกิจกรรมที่กระตือรือร้นโดยใช้ ศิลปะเชิงมีส่วนร่วมแสดงเสียงของพวกเขาเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวด้านสภาพภูมิอากาศ ในพื้นที่จัดแสดงมีกำแพงโปรเจ็กต์เตอร์สีขนาดใหญ่ที่สามารถสัมผัสได้เพื่อเชิญชวนให้ผู้ชมเข้าร่วมสร้างภาพที่เต็มไปด้วยความหวังสำหรับอนาคต นอกจากนี้ ยังมีการออกแบบห้องบันทึกเสียง เพื่อให้ผู้ชมสามารถบันทึกคำมั่นสัญญาของพวกเขาเกี่ยวกับการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศซึ่งนำไปสู่การสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่เป็นเอกลักษณ์โดยใช้ เทคโนโลยี Genarative AI รูปแบบการโต้ตอบที่สร้างสรรค์นี้ไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มความรู้สึกมีส่วนร่วมของผู้ชม แต่ยังทำให้พวกเขามีความรู้สึกถึงความรับผิดชอบและพลังในการเชื่อมโยงกับสังคมได้อีกด้วย

การสัมผัสผ่านกำแพงโปรเจ็กต์สี

การสัมผัสผ่านกำแพงโปรเจ็กต์สี

ผลงานศิลปะ AI เสียงจากสาธารณะชน

ผลงานศิลปะ AI เสียงจากสาธารณะชน

เกมภารกิจกอบกู้สภาพอากาศ

เกมภารกิจกอบกู้สภาพอากาศ

นิทรรศการยังได้ออกแบบเกม "ภารกิจกอบกู้สภาพอากาศ" ที่ผู้ชมสามารถสแกน QR Code เพื่อเริ่มภารกิจ โดยติดตามเรื่องราวในรูปแบบการ์ตูนที่ช่วยนำทางสำรวจนิทรรศการ ทำภารกิจ และเก็บสะสมการ์ดต่างๆ เกมนี้ไม่เพียงแต่ดึงดูดความสนใจจากกลุ่มวัยรุ่น แต่ยังเป็นช่องทางส่งเสริมความสัมพันธ์ในครอบครัว ทำให้คนในครอบครัวสามารถเรียนรู้ไปด้วยกันซึ่งช่วยส่งเสริมการสื่อสารระหว่างรุ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้เข้าชมจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับปัญหาสภาพภูมิอากาศในบรรยากาศที่สนุกสนาน ทำให้เกิดการคิดวิเคราะห์เกี่ยวกับประเด็นนี้อย่างลึกซึ้ง และสร้างแนวคิดการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศให้เข้ามาอยู่ในจิตใต้สำนึกของผู้คนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นิทรรศการ "ปฏิบัติการสภาพภูมิอากาศ" จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม ค.ศ. 2024 ถึง 13 เมษายน ค.ศ. 2025 จากวันที่เปิดให้เข้าชมจนถึงวันที่ 25 กันยายน มีผู้เข้าชมจำนวน 53,840 คน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสนใจอย่างมากจากสาธารณชนในประเด็นนี้ ยิ่งไปกว่านั้นนิทรรศการนี้ยังได้รับรางวัลหนึ่งเหรียญเงินและหนึ่งเหรียญทองรางวัล MUSE Design Awards จากสมาคมรางวัลนานาชาติสหรัฐอเมริกา (IAA)  ประจำไตรมาสที่ 2 ปี 2024ด้วย

การมีส่วนร่วมและการปฏิบัติด้านสภาพภูมิอากาศของพิพิธภัณฑ์

พิพิธภัณฑ์สมัยใหม่ได้เริ่มเปลี่ยนบทบาทของตนไปเป็นแพลตฟอร์มสำคัญในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนและการเคลื่อนไหวทางสังคม เมื่อเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ พิพิธภัณฑ์สามารถใช้ทรัพยากรและอิทธิพลที่มีกระตุ้นและขับเคลื่อนพลังสังคมให้เผชิญหน้ากับวิกฤตสภาพอากาศไปด้วยกันได้

เหตุผลแรกพิพิธภัณฑ์สามารถนำเสนอความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ซับซ้อนในรูปแบบที่เข้าใจง่ายและน่าสนใจ ทำให้ผู้ชมที่มีภูมิหลังและวัยที่แตกต่างกันสามารถเข้าใจและมีส่วนร่วมได้ นิทรรศการ "ปฏิบัติการสภาพภูมิอากาศ" ได้ใช้ประสบการณ์การปฏิสัมพันธ์และการสร้างบรรยากาศที่เสมือนจริงทำให้ผู้ชมรู้สึกถึงปัญหาจริง ๆ และความเร่งด่วนของปัญหา และยังเข้าใจถึงความสำคัญของปัญหาทางสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกอยากมีส่วนร่วมและลงมือทำ

เหตุผลที่สองพิพิธภัณฑ์สามารถออกแบบกิจกรรมที่หลากหลาย ให้ความรู้แก่มวลชนเพื่อให้เกิดความตระหนักและอยากมีส่วนร่วมได้ โซนนิทรรศการ "ภารกิจกอบกู้สภาพอากาศ" "ชีวิตสีเขียวซีโร่คาร์บอน" และ "ร่วมสร้างโลกซีโร่คาร์บอน"ในนิทรรศการ "ปฏิบัติการสภาพภูมิอากาศ"  ล้วนเป็นตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จในการให้ผู้ชมมีส่วนร่วม และตระหนักถึงความสำคัญของการกระทำทั้งในระดับบุคคลและกลุ่ม นอกจากนี้ ยังมีการจัดกิจกรรมเพิ่มเติมเช่น การบรรยาย การฉายภาพยนตร์ จัดสัมมนา การแสดงหนังสือตามธีม กิจกรรมการศึกษา การเปิดคลาสและการบรรยายซีโร่คาร์บอนร่วมกับมหาวิทยาลัยและหน่วยงานรัฐบาล ซึ่งช่วยให้มวลชนมีโอกาสสำรวจ พูดคุย และเข้าร่วมสัมผัสด้วยตัวเอง

เหตุผลที่สาม อิทธิพลทางสังคมของพิพิธภัณฑ์สามารถขยายออกไปได้อีกผ่านการร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ นิทรรศการ "ปฏิบัติการสภาพภูมิอากาศ" เป็นผลงานร่วมกันระหว่างพิพิธภัณฑ์และกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสิ่งแวดล้อม และสำนักงานสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลเมืองไทจง และยังร่วมมือกับสถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อมและการจัดการเพื่อความยั่งยืน มหาวิทยาลัยครูแห่งชาติไต้หวันเพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลในนิทรรศการถูกต้องตามหลักวิชาการ นอกจากนี้นิทรรศการยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเมืองไทจงในการเชิญนักเรียนประถมและมัธยม รวมถึงกลุ่มอาสาสมัครด้านการศึกษาสิ่งแวดล้อมให้มาเข้าชม ทำให้นิทรรศการนี้สามารถเข้าถึงรั้วโรงเรียนและกลุ่มต่าง ๆ ในสังคม สร้างแรงกระเพื่อมทางสังคมได้มากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ พิพิธภัณฑ์ยังมีบทบาทในการส่งเสริมการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ ในวันทำการปกติทางพิพิธภัณฑ์ได้ใช้มาตรการสีเขียว ไม่ว่าจะเป็น การประหยัดพลังงาน การใช้ทรัพยากรหมุนเวียน และอื่น ๆ พร้อมทั้งตอบสนองนโยบาย "การเปลี่ยนแปลงไปสู่ซีโร่คาร์บอน" ของรัฐบาลไต้หวัน ด้วยการตรวจสอบการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และปรับปรุงการลดการปล่อยก๊าซเพื่อให้เกิดผลกระทบในเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม การดำเนินการเหล่านี้ช่วยให้พิพิธภัณฑ์กลายเป็นผู้นำในการสร้างการตระหนักรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และกระตุ้นให้ผู้ชมร่วมมือกันในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนมากขึ้น

บทสรุป

สำหรับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ พิพิธภัณฑ์มีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นให้สังคมสนใจประเด็นสภาพภูมิอากาศและส่งเสริมการพูดคุยแลกเปลี่ยนและลงมือทำจริง นิทรรศการ "ปฏิบัติการสภาพภูมิอากาศ" ได้ประสบความสำเร็จในการแปลงข้อมูลและประเด็นที่ซับซ้อนให้เป็นรูปแบบการนำเสนอที่เข้าใจง่ายที่มีปฏิสัมพันธ์และประสบการณ์ทางประสาทสัมผัส ทำให้ผู้ชมได้มีส่วนร่วมในประสบการณ์ที่สมจริง ที่สำคัญยิ่งกว่าคือการออกแบบให้ผู้ชมเรียนรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผ่านรูปแบบการจัดแสดงข้างต้นทำให้ผู้ชมตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศและคิดทบทวนถึงความจำเป็นในการแก้ไขปัญหานี้ ทั้งหมดนี้ไม่เพียงแต่ทำให้นิทรรศการนี้เป็นเสียงเรียกร้องให้มีการจัดการอะไรสักอย่างในประเด็นสภาพภูมิอากาศเท่านั้น แต่ยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงการดำเนินงานและอิทธิพลของพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ที่มีต่อสังคมด้วย